มาตรฐานความปลอดภัยในการทำงานกับโลหะเหลว

7396

รหัสมาตรฐาน MN 062004-22

การถลุงแร่เป็นปฏิกิริยาทางเคมีระหว่างแร่และสารลดออกซิเจน (Reducing Agent) โดยมีความร้อนเป็นตัวช่วยเร่งปฏิกิริยา ทำให้โลหะแยกตัวออกเป็นของเหลว นอกจากได้โลหะจะได้ผลิตภัณฑ์อื่น เช่น สแลก ก๊าซต่าง ๆ และผงฝุ่น เป็นผลพลอยได้ จากโลหะดิบที่เราได้จากเตาถลุงนั้นขั้นตอนถัดไปคือการทำให้โลหะมีความบริสุทธิ์มากขึ้นซึ่งส่วนใหญ่จะใช้กรรมวิธีออกซิเดชันและรีดักชัน เพื่อไล่สารมลทินออกจากน้ำโลหะเมื่อได้โลหะที่ค่อนข้างบริสุทธิ์หรือบริสุทธิ์แล้วโลหะจึงนำไปใช้งานได้

ขณะหลอมโลหะนั้นอันตรายเบื้องต้นจะมาจากความร้อน เนื่องจากอุณหภูมิที่ใช้หลอมโลหะจะสูงในระดับที่สามารถก่อให้เกิดอันตรายบาดเจ็บที่รุนแรง จนอาจถึงแก่ชีวิตได้  นอกจากนี้แล้วปฏิกิริยาของการเผาไหม้ การเกิดออกซิเดชันของเศษโลหะและส่วนผสมอื่น ๆ จะเกิดฝุ่นควัน สารพิษและก๊าซพิษ

ในปัจจุบันอุตสาหกรรมการหลอมหรือการถลุงโลหะจากแร่ลดลง และโรงงานบางแห่งได้ปิดตัวลง เนื่องจากการขาดแคลนแหล่งวัตถุดิบแร่โลหะคุณภาพสูงในประเทศ ส่งผลให้ผู้ประกอบการบางรายต้องแสวงหาและนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ ซึ่งบางครั้งมีการนำเข้าในรูปแบบของแท่งอินกอต เพื่อนำมาใช้งาน ปัจจุบันยังมีการหลอมเพื่อรีไซเคิลเหล็กและโลหะอื่น ๆ เช่น อะลูมิเนียม ทองแดง และตะกั่ว  โดยมีสถานประกอบการที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมหลอมหล่อโลหะ ทั้งสิ้น 955 ราย และมีจำนวนบุคลากรที่เกี่ยวข้องมากกว่า 50,000 คน (กรมโรงงานอุตสาหกรรม 2021)

กระบวนการถลุงและหล่อหลอม เป็นกระบวนการที่บ่อยครั้งมีอุบัติเหตุที่ร้ายแรง เช่น การระเบิดหรือรั่วไหลของน้ำโลหะ การเกิดไฟไหม้ ร่างกายเกิดการบาดเจ็บและอาคารเสียหาย นอกเหนือจากนั้นผู้ปฏิบัติการอาจประสบกับปัญหาด้านสุขอนามัย จากฝุ่นควัน สารพิษและก๊าซพิษได้  จึงทำให้มีความจำเป็นที่อุตสาหกรรมหล่อหลอมโลหะต้องมีมาตรฐานความปลอดภัยสำหรับการปฏิบัติงาน การผลิต และอาชีวอนามัย เพื่อประโยชน์ต่อผู้ปฏิบัติงาน ตลอดจนชุมชนและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้การทำงานเป็นไปตามหลักวิชาชีพ และข้อบังคับตามกฎหมาย หลักปฏิบัติที่ปรากฏในมาตรฐานนี้ได้มีการสอบเทียบกับมาตรฐานการปฏิบัติงานของ Health Safety Executive สหราชอาณาจักร (UK) และ Safe Work Australia ออสเตรเลีย ตลอดจนจากประสบการณ์อันยาวนานของคณะผู้จัดทำ

คณะผู้จัดทำไม่มีวัตถุประสงค์ให้มาตรฐานนี้เป็นเหมือนตำราเรียนที่ยากต่อการนำไปใช้งานจึงไม่ได้ลงลึกในส่วนของทฤษฎี แต่มุ่งหวังอย่างมากว่ามาตรฐานนี้จะช่วยให้ท่านได้นำไปใช้บริหารจัดการความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการของท่านอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อันจะนำมาซึ่งความปลอดภัยต่อทรัพย์สินและทรัพยากรมนุษย์อันมีค่าที่หาทดแทนไม่ได้

คณะผู้จัดทำขอขอบคุณ สภาวิศวกรสำหรับการสนับสนุนงบประมาณ บริษัท สหวิศว์หล่อโลหะ จำกัด  บริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และบริษัท เหล็กสยามยามาโตะ จำกัด ที่อนุเคราะห์ข้อมูลที่ทำให้มาตรฐานมีความสมบูรณ์ขึ้นตามที่ปรากฏ  และสุดท้ายขอขอบคุณวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และเจ้าหน้าที่ทุกท่านที่ทำให้มาตรฐานฉบับนี้เสร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์

   ฉบับนี้เป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2565

                                     มีจำหน่ายแบบออนไลน์เท่านั้น

รายนามคณะทำงาน
มาตรฐานความปลอดภัยในการทำงานกับโลหะเหลว
พ.ศ.2563-2564
 คณะกรรมการประจำมาตรฐาน
1. ดร.ณรงค์ อัครพัฒนากูล ประธาน
2. ศ.ดร.กอบบุญ หล่อทองคำ กรรมการ
3 ดร.ประทีป วงศ์บัณฑิต กรรมการ
4 นายพัณณ์แสง ชูมัง กรรมการ
5 รศ.ดร.ปฏิภาณ จุ้ยเจิม กรรมการ
6 นายพนม ไพรยนต์ทิพย์ กรรมการ
คณะทำงานร่างมาตรฐาน
1. รศ.ดร.ฉัตรชัย สมศิริ ประธาน
2. นายสมหวัง วิทยาปัญญานนท์ คณะทำงาน
3. นายเชาวนันท์ พิลาออน คณะทำงาน
4. นายวชิรวิทย์ ศิริศักดิ์ คณะทำงาน
5. รศ.ดร.สุรีรัตน์ ผลศิลป์ คณะทำงานและเลขานุการ
6. นางสาวเมตตา หมอนเขื่อน ผู้ช่วยเลขานุการ

แผนการปรับปรุงมาตรฐาน

อย่างน้อย 5 ปี หลังการจัดพิมพ์มาตรฐานจึงจะมีการปรับปรุง

บทความก่อนหน้านี้แนวทางเพิ่มมูลค่าธุรกิจด้วยบริการแบบคลาวด์สู่เศรษฐกิจดิจิทัลสู่เศรษฐกิจดิจิทัล
บทความถัดไปมาตรฐานดาตาเซนเตอร์สำหรับประเทศไทย พ.ศ.2565 ส่วนเพิ่ม 1 (Addendum 1)