วันเสาร์, เมษายน 27, 2024
0,00 THB

ไม่มีสินค้าในตะกร้า

รู้จักมาตรฐาน วสท. (EIT Standard)

         วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ว.ส.ท.) เป็นสมาคมวิชาชีพวิศวกรรม ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2486 เป็นเวลากว่า 73 ปี โดยก่อนที่จะก่อตั้งเป็นวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ นั้น ประเทศไทยมีสมาคมที่เกี่ยวกับช่างอยู่ 2 สมาคม คือ “สมาคมนายช่างแห่งกรุงสยาม” ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2471 เป็นการรวมตัวกันของผู้สำเร็จการศึกษาวิชาการก่อสร้างจากประเทศอังกฤษ กับ “สมาคมวิศวกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2478 ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของนายช่างที่จบจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยทั้งสองสมาคมดังกล่าวเป็นการรวมตัวกันเพื่อความร่วมมือทางวิชาชีพวิศวกรรม จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2486 ได้มีการรวม 2 สมาคมเป็นหนึ่งเดียวเพื่อส่งเสริมวิชาชีพวิศวกรรมให้เป็นปึกแผ่น รัฐบาลในสมัยนั้นก็ต้องการส่งเสริมอาชีพวิศวกรรม และได้ออกพระราชบัญญัติวิศวกรรมเพื่อควบคุมและให้มีการจัดการวิศวกรด้วยกันเองในหมู่วิศวกร โดยได้ยกเลิก 2 สมาคมดังกล่าว และตั้งเป็นสมาคมใหม่คือ “สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย” เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2486 และดำเนินการก่อตั้งแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2493 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้ารับวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์นับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

         วสท. เป็นสมาคมวิชาชีพที่ดำเนินงานโดยไม่แสวงหาผลกำไร ภายใต้การบริหารงานของคณะกรรมการอำนวยการ กอรปด้วยสมาชิกวิศวกร  จำนวนมากกว่า 20,000 คน  วัตถุประสงค์หลักของวสท.ได้แก่การส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้  ประสบการณ์ทางด้านมาตรฐานการประกอบวิชาชีพวิศวกรรม  และการรักษาจรรยาบรรณแห่งการปฏิบัติวิชาชีพ เพื่อให้วิศวกรไทยมีคุณภาพมาตรฐานทัดเทียมนานาประเทศในการแข่งขันในเวทีโลก  วสท. ตระหนักถึงความสําคัญในบทบาทของมาตรฐานต่อการเป็นแหล่งอ้างอิงสำหรับวิศวกรและผู้เกี่ยวข้องในงานวิศวกรรม  เนื่องจากมาตรฐานการปฏิบัติวิชาชีพเป็นเครื่องมือในการส่งเสริม สนับสนุน และเป็นการประกันคุณภาพงานของวิศวกรและผู้เกี่ยวข้องให้น่าเชื่อถือและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน  เพื่อประโยชน์ต่อความปลอดภัยของสาธารณะชน

         ในรอบหลายทศวรรษที่ผ่านมา  วสท.นับเป็นองค์กรหลักหนึ่งที่ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ในระดับประเทศ ไม่ว่าจะเกิดน้ำท่วม แผ่นดินไหว  ตึกถล่ม  น้ำแล้ง  หรือส่วนราชการ หรือประชาชนมีปัญหาในเรื่องการก่อสร้างบ้าน อาคาร ถนน ฯลฯ   โดยมีส่วนร่วมในการให้ข้อคิดเห็น   ทั้งนี้ข้อเสนอแนะต่างๆ ล้วนอ้างอิงมาตรฐาน วสท.ที่ได้จัดทำขึ้นทั้งสิ้น

         เนื่องจากทิศทางในอนาคต  มาตรฐานที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเนื่องจากความสะดวกในการพกพาไม่ว่าจะเปิดดูจากคอมพิวเตอร์พีซี โน๊ตบุค แท็บเล็ต และมือถือ  วสท.จึงได้พัฒนาช่องทางการเข้าถึงมาตรฐานในรูปแบบ PDF ไฟล์เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้งานที่ไม่ต้องการพกพามาตรฐานติดตัวไป  ให้สามารถเปิดจากอุปกรณ์พกพาชนิดต่างๆ เหล่านี้ได้  ซึ่งจะเป็นแนวโน้มของผู้คนในอนาคต และวสท.เห็นความจำเป็นในเรื่องดังกล่าวจึงได้วางแผนการจำหน่ายมาตรฐานในรูปซอฟไฟล์ขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานให้หลากหลายโดยเสียค่าใช้บริการในราคาที่เหมาะสม

         กว่าจะมาเป็น e-book นั้น  มาตรฐาน วสท.ได้มีการจัดทำในรูปแบบเล่มจำหน่ายมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 นับเป็นเวลากว่า 44 ปี มาแล้ว

         ในอดีตการก่อสร้างตึกรามบ้านช่องจะใช้วัสดุประเภทอิฐ และปูนก่อ เป็นหลัก ยังไม่มีการใช้เหล็กส้นเสริมแรงเหมือนในปัจจุบัน การเพิ่มความสูงให้บ้านหรืออาคาร  มาตรฐาน วสท. ในยุคแรกๆ จึงออกมาเพื่อสนองตอบความต้องการของวิศวกรผู้ออกแบบเพื่อรองรับงานก่อสร้างของประเทศที่เริ่มนำเทคโนโลยีก่อสร้างจากต่างประเทศมาใช้อย่างแพร่หลายในเชิงพานิชย์มากขึ้น เทคโนโลยีการสร้างอาคารด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กนับเป็นเทคโนโลยีที่พัฒนามาจากการใช้คอนกรีตล้วน และอิฐก่อแบบดั้งเดิม ซึ่งคุณสมบัติของคอนกรีตเสริมเหล็กสามารถต้านทานแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว และเพลิงไหม้ได้ดีกว่าอาคารอิฐก่อทั่วไป เดิมอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กหลังแรกๆ ของไทยจะเป็นวังของเจ้านายชั้นสูงซึ่งเป็นอาคารขนาดใหญ่ เช่น พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในรัชกาลที่ 5 ที่มีนายช่างสถาปนิกจากต่างประเทศเข้ามาดูแลงานร่วมกับช่างชาวไทยในการก่อสร้าง  ซึ่งมีการสั่งซื้อปูนซิเมนต์มาจากต่างประเทศ  อาคารคอนกรีตเสริมเหล็กที่พบหลักฐานการก่อสร้างอย่างละเอียดคือ พระตำหนักเหลือง ซึ่งเคยเป็นที่ประทับของพระอัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายในวังสระปทุม รวมทั้งพระตำหนักชาลีอาสน์ พระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นต้น

         จากยุคแรกการก่อสร้างใช้คอนกรีต อิฐก่อ  คอนกรีตเสริมเหล็ก  จนต่อมาได้พัฒนามาสู่ระบบคอนกรีตอัดแรง  เนื่องจากมีข้อดีคือเกิดสภาวะหดตัวน้อยกว่าคอนกรีตเสริมเหล็กแบบทั่วๆ ไป ให้ความแข็งแรงทนทานมากกว่า (ขึ้นกับการออกแบบก่อสร้างด้วย) คอนกรีตเสริมเหล็ก  นอกจากใช้กับงานก่อสร้างอาคารแล้วยังมีการนำไปใช้ในงานก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค เขื่อน อนุสาวรีย์ และงานก่อสร้างขนาดใหญ่ต่างๆ ที่เห็นได้ทั่วไป  โรงปูนซิเมนต์แห่งแรกของประเทศไทยตั้งขึ้นเมื่อสมัยรัชกาลที่ 6 พ.ศ. 2456 ตามพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เพื่อผลิตปูนซีเมนต์ วัสดุก่อสร้าง  อาคารสูงที่ก่อสร้างแห่งแรกในประเทศไทยก่อสร้างขึ้นที่เยาวราชเป็นตึก 6 ชั้น  ซึ่งเป็นของพระยาสารสิน สวามิภักดิ์ (หมอเทียนอี้ ต้นตระกูลสารสิน) หมอหลวงของ ร.5 โดยในปัจจุบันตึก 6 ชั้นนี้คือ“เซี่ยงไฮ้ แมนชั่น บูติค โฮเต็ล” ได้ถูกตกแต่งใหม่โดยยังคงเอกลักษณ์ของศิลปะ วัฒนธรรมและวิถีชีวิต ในเขตการค้า การพาณิชย์ที่เก่าแก่ของคนจีนร่วมสมัย ผสมผสานกับการตกแต่งภายในอาคารในรูปแบบจีนเซี่ยงไฮ้สมัยใหม่    ต่อมาก็พัฒนาเป็นตึก 7 ชั้น ก็คือ “โรงแรมไชน่า ทาวน์” ของอมร อภิธนาคุณ นายกสมาคมชาวไทยเชื้อสายจีน ซึ่งแต่เดิมตึกแห่งนี้ก็เคยเป็นตึกที่สูงที่สุดคือตึก 7 ชั้น ที่มีชื่อเสียงบนถนนเยาวราช อีกหนึ่งตึกในย่านเยาวราชที่เคยได้ชื่อว่าเป็นตึกที่สูงที่สุดอีกเช่นกันก็คือ ตึก 9 ชั้น หรือปัจจุบันคือ ห้างทองชื่อดังในเยาวราชนั่นเอง  ต่อมาประเทศเริ่มก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ

         จากตึก 9 ชั้นที่เคยสูงที่สุดในประเทศไทยก็ได้ถูกทำลายสถิติลงในปี พ.ศ.2507 ด้วยตึกของ “อเมริกันอินเตอร์แนชชั่นแนล” หรือ “ตึกเอไอบี” ถนนสุรวงศ์ ซึ่งมีความสูง 11 ชั้น ถือเป็นตึกที่สูงที่สุดในประเทศในยุคนั้น

         ต่อมาในปี พ.ศ.2511 ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ก็ได้ก่อตั้ง “โรงแรมดุสิตธานี” ขึ้นด้วยความสูง 23 ชั้น ถือเป็นตึกสูงที่มาโค่นแชมป์ตึกเอไอบีลง

         ในปี พ.ศ.2524 อาคารสำนักงานใหญ่แบงค์กรุงเทพฯ ถนนสีลม ได้สร้างเสร็จโดยมีความสูง 33 ชั้น จากนั้นเทคโนโลยีและการรับวัฒนธรรมสมัยใหม่ก็ยังคงหลั่งใหลเข้ามาในประเทศไทย ความเจริญก้าวหน้าในด้านต่างๆ ทำให้กรุงเทพฯ เมืองหลวงของไทยมีตึกที่สูงหลายสิบชั้นมากมาย

         พ.ศ.2530  “ตึกใบหยก 1” (Baiyoke 1) ตั้งอยู่เลขที่ 130 ถนนราชปรารถ เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร มีจำนวนทั้งหมด 42 ชั้น มีความสูงโครงสร้างตึก 151 เมตร สร้างเสร็จ 3 ปี ก่อนเริ่มสร้างตึกใบหยก 2 ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงแรมใบหยก สวีท

         พ.ศ.2540 “ตึกใบหยก 2” (Baiyoke 2) ตั้งอยู่บริเวณประตูน้ำ ถนนราชปรารภ เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร ตึกนี้เป็นอาคารหนึ่งในเครือใบหยก มีทั้งหมด 88 ชั้น (รวมชั้นใต้ดิน 3 ชั้น) อาคารสูงถึง 304 เมตร  ตึกใบหยก 2 มีพื้นที่ใช้สอยส่วนใหญ่เป็นโรงแรมที่ชื่อใบหยกสกาย (Baiyoke Sky) โรงแรมเปิดบริการเดือนมกราคม พ.ศ. 2541 บนยอดตึกติดตั้งเสาส่งสัญญาณโทรทัศน์ 80 ฟุต  คือสถานีโทรทัศน์ทีวีไทย สทท. กรมประชาสัมพันธ์วีเอชเอฟ ช่อง 11 Modern nine TV ระบบวีเอชเอฟ ช่อง 9 ช่อง 3 ระบบ ยูเอชเอฟ ช่อง 32

         จนถึงปี พ.ศ.2559 “ตึกมหานคร” ที่ตั้งอยู่ ถ.นราธิวาสนครินทร์ เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร มีความสูงจำนวน 77 ชั้น (313.4 เมตร) เป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์ระดับไฮเอนด์ในรูบแบบมิกส์-ยูส (Mix-use) ประกอบไปด้วยที่พักอาศัยระดับซูเปอร์ลักชัวรี่ “เดอะริทช์-คาร์ลตัน เรสซิเดนเซส บางกอก” จำนวน 207 เรสซิเดนซ์, บูติคโฮเต็ล แบรนด์ บางกอกเอดิชั่น บริหารโดย เดอะ ริทซ์-คาร์ลตัน จำนวน 159 ห้อง และพื้นที่ไลฟ์สไตล์ รีเทล ชั้นบนสุดของอาคาร (ชั้น 77) เป็น “Sky Observation Deck” และ บาร์ดาดฟ้าเอาท์ดอร์ เพื่อเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่และชมทัศนียภาพของกรุงเทพมหานคร และเป็นอาคารที่สูงที่สุดในประเทศไทยในขณะนี้

         พ.ศ.2563 “ซุปเปอร์ทาวเวอร์” จะเปิดตัวเป็นตึกที่สูงที่สุดในไทยเป็นแห่งต่อไป ซึ่งจะทำลายสถิติตึกที่เคยสูงที่สุดลง ด้วยความสูง 615 เมตร 125 ชั้น  พัฒนาโดย “กลุ่มจีแลนด์”  ตั้งอยู่ภายในโครงการเดอะ แกรนด์ พระราม 9 ใช้เงินลงทุนกว่า 1.8 หมื่นล้านบาท คาดสร้างแล้วเสร็จปี 2563

         จากประวัติการสร้างตึกสูงในยุคแรกๆ ของประเทศ ไล่ไปจนถึงยุคของตึกระฟ้าที่พบมากมายในปัจจุบันและที่กำลังจะสร้างแล้วเสร็จ  เกิดขึ้นได้เพราะมีผู้สำเร็จการศึกษาทางช่างก่อสร้างจากต่างประเทศในสาขาต่างๆ มารวมตัวกันและกำหนดให้มีมาตรฐานการปฏิบัติด้านการออกแบบงานก่อสร้างขึ้น  ถึงแม้ในยุคแรกๆ ไทยยังอาศัยนายช่างจากต่างประเทศมาช่วยในการออกแบบและคุมงานก่อสร้าง แต่เมื่อมีการกำหนดมาตรฐานและมีการจัดอบรมก็ทำให้วิศวกรไทยสามารถเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกันจนสามารถทำงานและพัฒนาฝีมือได้อย่างมืออาชีพในเวลาต่อมา ซึ่งกว่าจะเริ่มมีการกำหนดมาตรฐานต่างๆ วสท.ต้องใช้เวลาในการเก็บข้อมูลพอสมควร

ประวัติมาตรฐาน วสท. สามารถไล่เลียงได้ดังนี้

         ปี 2515  มาตรฐานฉบับแรกที่จัดทำคือ มาตรฐานสำหรับอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กโดยวิธีหน่วยแรงใช้งาน  ซึ่งในช่วงเวลานั้นมีการก่อสร้างอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก  ซึ่งต้องการมาตรฐานไปใช้ประกอบการทำงานของวิศวกรเพื่อให้อาคารที่ก่อสร้างเป็นไปตามมาตรฐานสากล

         พ.ศ.2516  มาตรฐานสำหรับอาคารไม้ และมาตรฐานการเดินท่อภายในอาคาร

         พ.ศ. 2518  มาตรฐานที่พิมพ์ออกจำหน่ายในลำดับถัดมาคือ มาตรฐานสำหรับอาคารเหล็กรูปพรรณ  มาตรฐานสำหรับอาคารวัสดุก่อ มาตรฐานความปลอดภัยสำหรับงานก่อสร้าง มาตรฐานระบบเครื่องทำความเย็นและอุปกรณ์ และมาตรฐานการติดตั้งระบบการปรับภาวะอากาศ

         จะเห็นได้ว่ามาตรฐาน วสท. ออกมาเพื่อรองรับการใช้งานของวิศวกรในการออกแบบ และติดตั้งงานอาคารเป็นหลัก  ดังจะเห็นได้ว่ามาตรฐานในลำดับถัดมา ปี 2528  มาตรฐานสำหรับอาคารเหล็กรีดเย็นก็ได้จัดพิมพ์ขึ้น

         ปี 2532  มาตรฐานการเขียนแบบอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก มาตรฐานนี้จัดทำขึ้นโดยเป็นการพัฒนาตามมาตรฐานสำหรับอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กโดยวิธีหน่วยแรงใช้งาน พ.ศ.2515

         ปี 2534  มาตรฐานอาคารคอนกรีตอัดแรง

         ปี 2538  มาตรฐานสำหรับอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กโดยวิธีกำลัง

         ปี 2540  มาตรฐานสำหรับอาคารเหล็กรูปพรรณ  มาตรฐานระบบปรับอากาศและระบายอากาศ

         ปี 2543  มาตรฐานท่อในอาคาร  มาตรฐานก๊าซหุงต้ม

         ปี 2544  มาตรฐานการป้องกันอัคคีภัย

         ปี 2545  มาตรฐานการควบคุมควันไฟ  มาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าสำหรับประเทศไทย มาตรฐานระบบไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉินและโคมไฟฟ้าป้ายทางออกฉุกเฉิน

         ปี 2546  ข้อกำหนดมาตรฐานวัสดุและการก่อสร้างสำหรับโครงสร้างคอนกรีต  ข้อกำหนดมาตรฐานสำหรับงานก่อสร้างเสาเข็มเจาะ  มาตรฐานการคำนวณแรงลมสำหรับการออกแบบอาคาร  เมื่ออาคารมีความสูงมากขึ้นๆ นอกจากการคำนึงถึงความแข็งแรงทางโครงสร้างแล้ว ยังต้องคำนึงถึงความยืดหยุ่นขณะเกิดกระแสลมแรงด้วยจึงเป็นที่มาของการจัดทำมาตรฐานการคำนวณแรงลมสำหรับการออกแบบอาคารขึ้น

         ปี 2547  มาตรฐานการติดตั้งเครื่องปรับอากาศขนาดเล็ก

         ปี 2548 มาตรฐานระบบไอน้ำ  มาตรฐานการระบายอากาศเพื่อคุณภาพอากาศภายในอาคารที่ยอมรับได้  มาตรฐานการป้องกันอัคคีภัยสำหรับโรงงงานอุตสาหกรรม  มาตรฐานระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้  แนวทางการวัดปริมาณงานก่อสร้างอาคาร

         ปี 2549  มาตรฐานระบบเครื่องกลขนส่งในอาคาร  มาตรฐานระบบลิฟต์  ขอบเขตและหน้าที่การให้บริการวิชาชีพการบริหารงานก่อสร้าง  มาตรฐานเหล่านี้จัดทำขึ้นเพื่อสนองตอบความต้องการสิ่งอำนวยความสะดวก และระบบสาธารณูปโภคที่จำเป็นต้องมีในอาคารสูง โดยเฉพาะลิฟต์ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการรับ-ส่ง การขึ้น-ลงอาคาร

         ปี 2550  มาตรฐานการป้องกันแม่เหล็กไฟฟ้าจากฟ้าผ่า

         ปี 2551  มาตรฐานการออกแบบอาคารเหล็กรูปพรรณโดยวิธีตัวคูณความต้านทานและน้ำหนักบรรทุก  มาตรฐานการจัดลำดับแบบก่อสร้างอาคารและรายละเอียดงานที่ควรมี  แนวทางการบริหารโครงการและควบคุมงานก่อสร้าง

         ปี 2553  มาตรฐานสำหรับอาคารเหล็กขึ้นรูปเย็น

         มาตรฐานที่เกิดขึ้นหลังปี 2553 ส่วนใหญ่จะเป็นการนำมาตรฐานในอดีตมาปรับปรุงแก้ไข ส่วนมาตรฐานใหม่จะเป็นมาตรฐานที่ตอบสนองด้านคุณภาพและความปลอดภัยภายในอาคาร ซึ่งปัจจุบันการก่อสร้างอาคารมีความก้าวหน้าทั้งด้านเทคโนโลยีของวัสดุ การออกแบบ และการก่อสร้างมากกว่าในอดีต ซึ่งจำเป็นต้องมีมาตรฐานเพื่อกำหนดวิธีปฏิบัติให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันทั้งประเทศ เป็นพันธกิจต่อเนื่องของวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ จวบจนปัจจุบัน