รายละเอียดเพิ่มเติม
มาตรฐานรหัสต้นทุนก่อสร้างงานอาคาร พ.ศ.2565
ฉบับแก้ไขปรับปรุงครั้งที่ 2 พ.ศ.2565 แทนฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 พ.ศ.2560
มาตรฐานรหัสต้นทุนก่อสร้างงานอาคาร พ.ศ.2565 แบ่งเป็น 9 หมวด (มีหมวดสำรอง 2 หมวด) ในแต่ละหมวดแยกระดับลงไปจนถึงระดับ 3 ซึ่งเป็นระดับที่สามารถสร้างต้นทุนต่อหน่วยพื้นที่ได้ ส่วนระดับที่ 4 หรือระดับที่ละเอียดลงไป จะนำไปกำหนดรหัสกำกับรายการบัญชีต้นทุนด้านงานอาคาร ซึ่ง วสท. ได้จัดทำตัวอย่างการสร้างบัญชีปริมาณวัสดุและราคา โดยใช้รหัสต้นทุนก่อสร้างงานอาคารตามมาตรฐานฉบับนี้เพื่อเป็นข้อแนะนำไว้ในภาคผนวก ข.
มาตรฐานรหัสต้นทุนก่อสร้างงานอาคาร พ.ศ.2565 มีการปรับปรุงแก้ไขที่สำคัญคือ
มาตรฐานได้นำเนื้อหาของ International Construction Measurement Standards (ICMS) มาร่วมพิจารณาในการปรับปรุงมาตรฐานครั้งนี้ด้วย โดย
-บทที่ 4 หมวดที่ 1 งานโครงสร้าง มีการปรับปรุงทั้งชื่อเรียกในระดับ 2 และเปลี่ยนแปลงรายการในระดับ 3 โดยแบ่งรายการเพื่อจำแนกต้นทุนออกเป็นตามลักษณะโครงสร้าง เสา คาน พื้น เพิ่มรูปประกอบการจำแนกโครงสร้างของอาคารที่ไม่มีชั้นใต้ดินและที่มีชั้นใต้ดิน รวมถึงการกำหนดส่วนของโครงสร้างใต้ดินและบนดินตามแบบ ICMS เพื่อให้การเก็บข้อมูลต้นทุนได้แม่นยำขึ้น ซึ่งจะมีผลโดยตรงต่อการสร้างต้นทุนต่อหน่วยของค่าก่อสร้างในขั้นตอน Schematic Design และ Design Develop ของงานอาคารลักษณะเดียวกัน และเป็นการสร้างความเข้าใจให้ตรงกันในหมู่ผู้ปฏิบัติงานทั้งส่วนเจ้าของโครงการ และผู้รับเหมาก่อสร้าง ในการสร้างบัญชีวัสดุต้นทุนและการควบคุมต้นทุนโครงการ รวมถึงนำรหัสต้นทุนก่อสร้างไปใช้ร่วมกับการทำงานแบบจำลองสารสนเทศ (Building Information Modeling-BIM) ซึ่งจะเกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อไป
-บทที่ 4 หมวดที่ 3 งานตกแต่งภายใน มีการจัดหมวดหมู่ใหม่
-บทที่ 4 หมวดที่ 4 งานภูมิสถาปัตยกรรมในอาคาร เป็นหมวดที่เพิ่มใหม่เพื่อรองรับด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมที่กำหนดให้อาคารต้องมีพื้นที่ว่างที่เป็นสวน หรือปลูกต้นไม้ ซึ่งมีทั้งภายในอาคาร เปลือกอาคาร และบนดาดฟ้า
-บทที่ 4 หมวดที่ 5 งานระบบประกอบอาคาร ในระดับที่ 2 มีการเพิ่มงานระบบดับเพลิงและระบบท่ออื่นๆ ส่วนระบบสื่อสารเพิ่มงานระบบควบคุมอาคารเข้ามาด้วย
-บทที่ 4 หมวดที่ 7 งานบริเวณก่อสร้าง เพิ่มงานภูมิทัศน์นอกอาคารเข้ามาด้วย (มีการเปลี่ยนแปลงระดับในงานภูมิทัศน์นอกอาคาร) เพิ่มงานองค์ประกอบลอยตัวในงานภูมิทัศน์ แยกงานภูมิทัศน์บริเวณภายนอกอาคารของเดิม เป็น งานภูมิทัศน์ดาดแข็งและงานระบบประกอบ งานภูมิทัศน์นุ่มและงานระบบประกอบ
-บทที่ 4 หมวดสำรอง (Reserved) หมวดที่ 8-9 (ลดจำนวนหมวดสำรองจาก 3 เหลือ 2 หมวด)
-เนื้อหาบทที่ 5 เพิ่มเนื้อหาตามรหัสต้นทุนที่ปรับปรุงเพิ่มเติมในบทที่ 4
-ภาคผนวก มีการปรับปรุงภาคผนวก ข โดยยกตัวอย่างการสร้างบัญชีปริมาณวัสดุและราคา (Bill of Quantities -BOQ) ตามหมวดหมู่ที่ปรับปรุงใหม่ พร้อมข้อแนะนำการประยุกต์ใช้งาน โดยตัวอย่างบัญชีปริมาณวัสดุและราคา (BOQ) นี้แสดงถึงระดับที่ 4 และมีรายละเอียดระดับที่ 4 ประกอบเพื่อเป็นตัวอย่าง
วสท. มีโครงการนำมาตรฐานนี้ไปพัฒนาต่อเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาการใช้รหัสต้นทุนก่อสร้างให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งประเทศ และสร้างต้นทุนต่อหน่วยของค่าก่อสร้างในขั้นตอน Schematic Design และ Design Develop ของงานอาคารลักษณะเดียวกัน รวมทั้งสร้างความเข้าใจให้ตรงกันในหมู่ผู้ปฏิบัติงานด้านต้นทุน อันจะนำไปสู่การควบคุมต้นทุนก่อสร้างของเจ้าของโครงการ และผู้รับเหมาก่อสร้างต่อไป