รายละเอียดเพิ่มเติม
ในการปฏิบัติงานเพื่อให้บริการวิชาชีพวิศวกรรม ที่ปัจจุบันมีพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ. 2542 เป็นกฎหมายควบคุม ซึ่งผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมจะต้องเป็นบุคคลที่ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมจากสภาวิศวกร ประกอบกับในปัจจุบันวิทยาการด้านวิศวกรรมมีความเจริญก้าวหน้าไปมาก และมีรายละเอียดลึกซึ้งมากขึ้น อีกทั้งการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมทั้งที่ควบคุมและยังไม่ควบคุม อาจส่งผลกระทบต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชนได้มาก จึงต้องมีพระราชบัญญัติวิศวกรเพื่อกลั่นกรองความรู้ความสามารถของผู้ประกอบวิชาชีพและเพื่อติดตามดูแลการประกอบวิชาชีพอย่างใกล้ชิด เพื่อเป็นการส่งเสริมการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมให้มีมาตรฐาน จึงสมควรจัดทำเอกสารมาตรฐานนี้เพื่อเป็นหลักในการปฏิบัติวิชาชีพวิศวกรรมต่อไป
โดยมาตรฐานนี้ วสท.หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะทำให้เกิดความเป็นธรรมต่อสังคม หมายถึงผู้ว่าจ้างหรือผู้ที่จะได้รับผลของการบริการจากวิศวกร และจะก่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้ให้บริการคือวิศวกร โดยทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการต่างก็จะได้รู้ว่า จะมีบริการอะไรบ้างตามกรอบของมาตรฐาน และผู้ให้บริการจะได้รับผลตอบแทนอย่างไร มาตรฐานนี้จะส่งเสริมให้มีการศึกษาค้นคว้าให้ผลงานมีคุณภาพ มีคุณค่า การแข่งขันเชิงคุณภาพจะเกิดขึ้นเมื่อมีหลักการคิดค่าบริการอย่างเท่าเทียมกัน
สิ่งสำคัญในการควบคุมการประพฤติปฏิบัติของวิศวกร คือจรรยาบรรณ อันหมายถึง หลักความประพฤติอันเหมาะสม แสดงถึงคุณธรรมและจริยธรรมในการประกอบวิชาชีพตามที่สภาวิศวกรได้ประมวลไว้เป็นหลัก เพื่อให้วิศวกรยึดถือปฏิบัติ เพื่อรักษาชื่อเสียง และส่งเสริมเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ ซึ่งได้นำเสนอไว้ในมาตรฐานด้วยแล้ว
อนึ่งในมาตรฐานนี้ได้เพิ่มส่วนที่เป็นเพื่อให้ผู้ใช้มาตรฐานได้ทราบข้อมูลและมีความเข้าใจในมาตรฐานมากขึ้นจากรายละอียดที่ปรากฎ ซึ่งข้อมูลและรายละเอียดเหล่านี้มีโอกาสที่ปรับเปลี่ยนตามระยะเวลาที่ผ่านไปหรือตามนโยบายของรัฐบาล การกำหนดให้อยู่ในภาคผนวก จะเป็นการดีที่ทำให้ไม่กระทบต่อเนื้อหาของมาตรฐานเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นเกิดขึ้น