วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home หนังสือมาตรฐาน มาตรฐานสาขาเหมืองแร่โลหะการและปิโตรเลียม มาตรฐานปฏิบัติการทำเหมืองหิน
ลดราคา!

มาตรฐานปฏิบัติการทำเหมืองหิน

฿ 205.00

ชื่อหนังสือ มาตรฐานปฏิบัติการทำเหมืองหิน
ผู้แต่ง คณะทำงานมาตรฐานปฏิบัติวิชาชีพวิศวกรรมเหมืองแร่ หลักปฏิบัติการทำเหมืองหิน
รหัสมาตรฐาน วสท.062003-21
ISBN 978-616-396-064-1
ปีที่พิมพ์ พฤษภาคม พ.ศ.2565 (May 2022)
ตัวอย่าง ดูรายละเอียดสารบัญ คลิ๊กที่นี่
ขนาด 8 MB

 

รหัสสินค้า: 10603-65 หมวดหมู่: ป้ายกำกับ:

รายละเอียดเพิ่มเติม

   

        เหมืองหินเป็นประเภทเหมืองแร่ส่วนใหญ่ที่มีในประเทศไทย เป็นงานที่ต้องมีทั้งการระเบิด และการย่อยหิน ดังนั้น การจัดทำมาตรฐานปฏิบัติการทำเหมืองหินไว้ จะช่วยให้วิศวกรเหมืองแร่และผู้ประกอบการเหมืองหินมีแนวทางที่ดีที่จะนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานเหมืองที่ดีไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและเกิดความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของชุมชน มีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และคุ้มทุน

        การทำงานของวิศวกรเหมืองแร่แบบมืออาชีพ จำเป็นต้องมีจิตสำนึกต่อสาธารณะเรื่องความปลอดภัย การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ความรับผิดชอบต่อสังคม การสร้างมูลค่าที่เกี่ยวกับการทำเหมือง ตลอดจนคำนึงถึงการส่งมอบคุณค่าประโยชน์หลังจากสิ้นสุดการทำเหมืองอีกด้วย ส่งผลให้การประกอบการเหมืองมีประสิทธิภาพ ประหยัด มีต้นทุนต่ำ ที่เป็นไปตามหลักวิชาการทางวิศวกรรม และสอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เป็นที่ยอมรับของสังคมอย่างแพร่หลาย และเป็นบันไดสู่การประกอบอาชีพข้ามชาติ และพัฒนาตัวเองด้านวิชาชีพวิศวกรรม ผ่านผลงานไปที่เหมือง หรือสถานประกอบการอย่างดียิ่งขึ้นจนเป็นแบบอย่างหรือต้นแบบที่ดี (Best Practice)

        มาตรฐานฉบับนี้มีความสมบูรณ์ในทุกขั้นตอนของการทำเหมืองหิน ตั้งแต่ก่อนการเปิดเหมือง ช่วงการผลิต การฟื้นฟูเหมือง ไปจนถึงปิดเหมือง และส่งมอบพื้นที่ที่จะใช้ประโยชน์ที่ดินต่อไปอย่างมีคุณค่า นับเป็นมาตรฐานการประกอบวิชาชีพ (Code of Practice) ที่ดี มีหลักเกณฑ์ และวิธีปฏิบัติที่เป็นไปตามหลักวิชาการและหลักการวิศวกรรมเหมืองแร่ มีการสอดแทรกกรณีตัวอย่างจากประสบการณ์จริงของทีมผู้เขียน ซึ่งประกอบด้วยเนื้อหาเข้าใจง่าย และนอกจากเรื่องทางเทคนิควิศวกรรมเหมืองแร่แล้ว ยังมีเรื่องของการดูแลและความรับผิดชอบต่อสังคมในบทที่ 14 อีกด้วย ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินกิจการเหมืองแร่ในยุคสมัยปัจจุบัน ทั้งนี้วิศวกร และผู้ประกอบการสามารถเลือกนำไปใช้เป็นแนวทางหรือเป็นกรอบมาตรฐานในการทำงานของตนได้ในทุกขั้นตอนการทำเหมืองหิน

        อนึ่ง กฎหมายที่สำคัญในการประกอบวิชาชีพของวิศวกรคือพระราชบัญญัติวิศวกร โดยสภาวิศวกรมุ่งเน้นให้วิศวกรมีความรู้ ความสามารถในการยกระดับจากภาคีวิศวกร เป็นสามัญวิศวกร และสูงสุดเป็นวุฒิวิศวกร เน้นให้มีแนวทางพัฒนาความสามารถของวิศวกร (Engineers Competency) และเน้นกระบวนการทำงานของวิศวกรให้เป็นที่ยอมรับของสังคมที่มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยผ่านทางมาตรฐานในการประกอบอาชีพวิศวกรรมควบคุม (Code of Practices) ซึ่งมาตรฐานนี้ ได้รับการสนับสนุนจากสภาวิศวกรให้จัดทำ จึงถือว่าเป็นมาตรฐานที่อ้างอิงได้สำหรับวิศวกร อย่างไรก็ตามยังมีความจำเป็นต้องมีการกำกับวิธีการทำงานของวิศวกรให้ปฏิบัติงานอย่างมีจริยธรรม (Code of Conduct) อีกด้วย

          เมื่อพิจารณาถึงเนื้อหาทั้งเล่มแล้ว จะเห็นว่าขั้นตอนต่าง ๆ ในมาตรฐานนี้ค่อนข้างสอดคล้องกับข้อกำหนดวิธีปฏิบัติตามมาตรฐานเหมืองแร่สีเขียว (Green Mining Award) ของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ วิศวกรเหมืองแร่และผู้ประกอบการสามารถอ้างอิงมาตรฐานนี้ และนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาเหมืองให้ได้มาตรฐานเหมืองแร่สีเขียวได้เป็นอย่างดี

         การสร้างมาตรฐานในการประกอบอาชีพทางวิศวกรรมเหมืองแร่ โลหกรรม และปิโตรเลียม เป็นการยกระดับความรู้ความสามารถในการประกอบวิชาชีพทางวิศวกรรม ให้ประกอบวิชาชีพอย่างมืออาชีพ สภาวิศวกรได้กำหนดระดับวิศวกรที่ควบคุมออกเป็นภาคีวิศวกร (Associate Engineer) สามัญวิศวกร (Professional Engineer) วุฒิวิศวกร (Senior Professional Engineer) และวิศวกรภาคีพิเศษ (Adjunct Engineer) แต่โดยแท้จริงแล้ววิศวกรทุกระดับคือวิศวกรที่ต้องประกอบวิชาชีพอย่างมืออาชีพ คือ มีการประกอบวิชาชีพที่ถูกต้องตามหลักปฏิบัติและวิชาการ มีมาตรฐานในการปฏิบัติงานที่เป็นที่ยอมรับ มีจรรยาบรรณ คำนึงถึงประโยชน์และผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

        มาตรฐานในการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมเหมืองแร่ของประเทศไทย มีจำนวนไม่มาก ประกอบกับมาตรฐานของต่างประเทศ ก็ไม่ได้มีการหยิบยกมาใช้ควบคู่กับการปฏิบัติงานจริงอย่างเป็นรูปธรรม  วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ได้จัดทำมาตรฐานวิชาชีพวิศวกรรมสาขาเหมืองแร่ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2563 จำนวน 2 มาตรฐาน โดยได้รับการสนับสนุนจากสภาวิศวกร และดำเนินการเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว คือ มาตรฐานความปลอดภัยในการปฏิบัติวิชาชีพวิศวกรรมเหมืองแร่ งานขุด ตัก ขน ด้วยเครื่องจักรกลหนักในพื้นที่หน้าเหมืองผิวดิน และมาตรฐานความปลอดภัยในการเจาะและระเบิดในอุโมงค์หินแข็ง ต่อมาในปี พ.ศ. 2564 สภาวิศวกรได้ให้การสนับสนุนจัดทำอีก 2 มาตรฐาน   ในสาขาวิศวกรรมเหมืองแร่ โลหการ และปิโตรเลียม ได้แก่ มาตรฐานปฏิบัติการทำเหมืองหิน หรือมาตรฐานฉบับนี้ และอีกมาตรฐานในงาน โลหกรรม คือ มาตรฐานความปลอดภัยในการทำงานกับโลหะเหลว

        การพัฒนาการประกอบวิชาชีพ นอกจากต้องมีมาตรฐานเป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน (Guidance) แล้ว ยังมีความจำเป็นที่จะต้องมีการถ่ายทอดรายละเอียดขั้นปฏิบัติงานในรูปแบบของการจัดหลักสูตร การอบรมเชิงปฏิบัติจากผู้เชี่ยวชาญ (Training Courses in Master Class) เพื่อสร้างความรู้ความชำนาญ หรือแก้ปัญหาในการปฏิบัติงานจริง ซึ่งเป็นอีกกิจกรรมที่คณะกรรมการสาขาฯ ได้วางแผนดำเนินการ

        นอกจากนี้ การจัดสัมมนาในเวทีงานวิศวกรรมแห่งชาติของวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ ก็เป็นการ เผยแพร่มาตรฐานและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องอีกทางหนึ่งเพื่อเพิ่มพูนองค์ความรู้ และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในปัจจุบัน ตลอดจนแลกเปลี่ยนความรู้ในแนวโน้มทิศทางการพัฒนาในอนาคตอีกด้วย

        มาตรฐานนี้เป็นที่คาดหวังว่าจะเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานของวิศวกรมืออาชีพ เป็นที่อ้างอิงทางวิชาการของวิศวกรเหมืองแร่ ว่าได้ประกอบวิชาชีพตามมาตรฐาน มีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัย  รักษาสิ่งแวดล้อม โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการพัฒนาประเทศตามหลักการของการพัฒนามาตรฐาน เมื่อใช้ไปแล้วทุก ๆ 5 ปี จะมีการทบทวนมาตรฐาน ซึ่งอาจมีผู้ใช้มาตรฐานขอเสนอให้แก้ไข หรือเห็นว่าเทคโนโลยีเปลี่ยนไปที่จำเป็นต้องปรับปรุงมาตรฐานให้เหมาะสมยิ่งขึ้นก็จะดำเนินการทบทวนแก้ไขมาตรฐานให้เหมาะสมต่อไป