รายละเอียดเพิ่มเติม
มาตรฐานนี้กำหนดตามเกณฑ์อย่างต่ำของความปลอดภัย เพื่อให้มีการออกแบบ การติดตั้ง การตรวจสอบ และการใช้ระบบไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉินและไฟฟ้าป้ายทางออกฉุกเฉิน ให้ผู้ใช้งานอาคารได้รับความปลอดภัยและสามารถระงับเหตุที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้อย่างรวดเร็ว
เนื่องจากมาตรฐานฯ นี้พิมพ์ขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2545 มีการปรับปรุงเมื่อ พ.ศ. 2551, 2554, 2557, 2561 ปัจจุบันเป็นฉบับ พ.ศ. 2565 ซึ่งเป็นการปรับปรุงครั้งที่ 5 ในการอ้างอิง
นั้นให้ยึดถือชื่อ “มาตรฐานระบบไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉินและไฟฟ้าป้ายทางออกฉุกเฉิน”
เป็นหลักโดยให้ถือว่า พ.ศ. ที่ต่อท้ายมาตรฐานนั้นเป็นเพียงส่วนเสริมที่ใช้แสดงปีที่จัดทำเท่านั้น ซึ่งในการอ้างอิงให้ถือตามฉบับล่าสุด นอกจากจะระบุไว้เพื่อจุดประสงค์ใดจุดประสงค์หนึ่งโดยเฉพาะเท่านั้น
มาตรฐานฉบับนี้มีเนื้อหาแยกเป็นส่วนของไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉิน, ไฟฟ้าป้ายทางออกฉุกเฉิน, การจ่ายไฟฟ้าและแหล่งจ่ายไฟฟ้า, การตรวจสอบและการบำรุงรักษา พร้อมด้วยภาคผนวกที่แสดงตัวอย่างใบรับรองการตรวจสอบและทดสอบ รวมทั้งตัวอย่างการออกแบบและติดตั้ง เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถนำมาตรฐานนี้ไปใช้งานได้จริง นอกจากนี้ยังมีระบบนำทางมาใช้เสริมในระบบหลักเพื่อเพิ่มความปลอดภัยและรวดเร็วในการหนีภัยได้มากยิ่งขึ้น
มาตรฐานฉบับนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ได้รับการอบรม หรือผู้ที่มีความรู้ทางด้านการออกแบบหรือติดตั้งระบบไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉินและไฟฟ้าป้ายทางออกฉุกเฉินเป็นอย่างดีเท่านั้น ผู้ใช้มาตรฐานฯ ควรใช้อย่างระมัดระวังและมีวิจารณญาณ กรณีที่ไม่มั่นใจควรขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญในการตัดสินใจ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ ไม่รับผิดชอบต่อทรัพย์สินส่วนบุคคลใด ๆ รวมทั้งการบาดเจ็บหรือเสียหายอื่น ๆ ที่เป็นผลสืบเนื่องทั้งโดยตรงหรือโดยอ้อมที่เกิดจากการเผยแพร่การใช้หรือการปฏิบัติตามมาตรฐานฯ และไม่ได้รับประกันความถูกต้องหรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใด ๆ ในมาตรฐานฯ ฉบับนี้
วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่ามาตรฐานฉบับนี้จะเป็นมาตรฐานที่วิศวกร ผู้ออกแบบ ผู้รับเหมาติดตั้ง ผู้ประกอบการ ผู้ใช้งาน สถานศึกษา ตลอดจนหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการกำหนดการติดตั้งระบบไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉินและไฟฟ้าป้ายทางออกฉุกเฉิน สามารถนำไปใช้อ้างอิงในการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมาตรฐานเดียวกัน
รีวิว
ยังไม่มีบทวิจารณ์