มาตรฐานระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้

24570

รหัสมาตรฐาน EE 021002-19 มาตรฐานระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ แก้ไขปรับปรุงครั้งที่ 2

มาตรฐานระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ เป็นมาตรฐานที่ครอบคลุมเนื้อหาสาระทางด้านการออกแบบ การติดตั้ง และการตรวจสอบ ระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้สำหรับใช้เตือนอัคคีภัยกับอาคารทั่วไปเพื่อความปลอดภัยต่อชีวิต และลดความสูญเสียต่อทรัพย์สิน ทั้งนี้ไม่รวมส่วนของอาคารที่ใช้เพื่อการผลิต การใช้ การเก็บสาร หรือวัสดุอันตราย เช่น วัตถุระเบิด สารไวไฟ สารเคมี และสารกัมมันตรังสี เป็นต้น ซึ่งต้องใช้มาตรฐานที่เกี่ยวข้อง และคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางประกอบการออกแบบด้วย

เนื้อหาในมาตรฐานกล่าวถึงนิยามเพื่อให้เข้าใจคำ หรือข้อความที่ใช้ในมาตรฐานนี้ วิธีการกำหนดโซน การแบ่งโซนเพื่อค้นหาจุดต้นเพลิงได้โดยรวดเร็ว และสามารถหนีไฟได้ทัน การแบ่งประเภทของอาคารเพื่อกำหนดส่วนประกอบขั้นพื้นฐานของระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ที่อาคารพึงมี อุปกรณ์ตรวจจับควัน อุปกรณ์ตรวจจับความร้อน อุปกรณ์ตรวจจับเปลวเพลิง และการกำหนดใช้ที่เหมาะสมกับพื้นที่เฉพาะ การติดตั้งอุปกรณ์ สาย ท่อ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการตรวจสอบอุปกรณ์ในระบบเพื่อให้แน่ใจว่าระบบทำงานถูกต้องเมื่อต้องการ

มาตรฐานนี้ครอบคลุมเฉพาะการออกแบบ การติดตั้ง และการตรวจสอบเท่านั้น ไม่ครอบคลุมการเลือกอุปกรณ์เพื่อใช้กับพื้นที่โดยทั่วไป ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้องที่จะต้องเลือกอุปกรณ์ที่มีคุณภาพที่มีมาตรฐานสากลรับรอง แต่ทั้งนี้คุณสมบัติในการทำงานของอุปกรณ์ต้องไม่ต่ำกว่าที่กำหนดในมาตรฐานนี้

การใช้มาตรฐานดังกล่าว ผู้ใช้ต้องมีความรู้พื้นฐานทางด้านระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ และจะต้องเป็นผู้ที่ได้รับการอบรมเพื่อให้เข้าใจการใช้มาตรฐานอย่างถูกต้องจากสถาบันที่ได้รับการรับรองจากสภาวิศวกร

ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2548

ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2551

ฉบับปัจจุบัน   เป็นฉบับที่ปรับปรุงครั้งที่ 2 และพิมพ์เมื่อ มกราคม พ.ศ. 2562 โดยมีการแก้ไข ดังนี้

  1. ภาคที่ 2 ข้อ 2.2.5 (2) ก. – เพื่อให้มีข้อความสอดคลองกับข้อ (1)และ เพิ่มข้อความ เพื่อแบ่งแบบของการหน่วงเวลาในข้อ ก.

ข้อความเดิม   ก. แบบแจ้งสัญญาณให้ทราบเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่ศูนย์สั่งการดับเพลิงในขั้นตอนแรก (initial alarm stage) ทันทีที่มีการตรวจพบอัคคีภัย เพื่อเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ทราบและทำการตรวจสอบที่เกิดเหตุ โดยระบบจะหน่วงเวลา (time delay) เพื่อชะลอการแจ้งสัญญาณภายในช่วงเวลาที่กำหนด หลังจากนั้นจึงแจ้งสัญญาณในขั้นตอนอพยพ (evacuation alarm stage) ในทุกพื้นที่ป้องกันที่กำหนดเพื่อการอพยพผู้คนออกจากอาคาร

อย่างไรก็ตามผู้ควบคุมระบบฯสามารถตัดสินใจทำการแจ้งสัญญาณในขั้นตอนหลังในบางพื้นที่ หรือทุกพื้นที่ก่อนครบเวลาที่กำหนดหากไม่สามารถระงับเหตุอัคคีภัยในขั้นตอนแรกนั้นได้หรือยกเลิกการแจ้งสัญญาณหากระงับเหตุได้ตั้งแต่แรกเหมาะสำหรับอาคารที่มีผู้คนอยู่ในอาคารเป็นจำนวนมาก

–  แบบให้สัญญาณเบื้องต้น (pre-signal) สามารถกำหนดการหน่วงเวลาได้นานกว่า 1 นาที

– แบบให้สัญญาณก้าวหน้าเป็นลำดับขั้น (positive alarm sequence) เจ้าหน้าที่ต้องเข้ารับทราบเหตุ (acknowledge) ที่แผงควบคุมระบบภายในเวลาไม่เกิน 15 วินาทีจากนั้นระบบจะหน่วงเวลาให้เข้าตรวจสอบและต้องปรับปกติ(reset) ระบบให้ได้ภายในเวลาไม่เกิน 180 วินาที ระบบจะทำให้เกิดการแจ้งสัญญาณในขั้นตอนหลังหากไม่เข้ารับทราบเหตุ หรือไม่ปรับปกติระบบได้ในเวลาที่กำหนด หรือมีอุปกรณ์เริ่มสัญญาณอื่นในระบบทำงานขึ้นในขณะหน่วงเวลา

ข้อความใหม่   ก. แบบแจ้งสัญญาณให้ทราบเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่ศูนย์สั่งการดับเพลิงในขั้นตอนแรก (initial alarm stage) ทันทีที่มีการเริ่มสัญญาณเมื่อตรวจพบเหตุเพลิงไหม้ เพื่อเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ทราบเหตุอัคคีภัยและทำการตรวจสอบที่เกิดเหตุ โดยระบบจะหน่วงเวลา (time delay) เพื่อชะลอการแจ้งสัญญาณภายในช่วงเวลาที่กำหนด หลังจากนั้นจึงแจ้งสัญญาณในขั้นตอนอพยพ (evacuation alarm stage) ในทุกพื้นที่ป้องกันที่กำหนดเพื่อการอพยพผู้คนออกจากอาคาร

อย่างไรก็ตามผู้ควบคุมระบบฯสามารถตัดสินใจทำการแจ้งสัญญาณในขั้นตอนหลังในบางพื้นที่ หรือทุกพื้นที่ก่อนครบเวลาที่กำหนดหากไม่สามารถระงับเหตุอัคคีภัยในขั้นตอนแรกนั้นได้หรือยกเลิกการแจ้งสัญญาณหากระงับเหตุได้ตั้งแต่แรกเหมาะสำหรับอาคารที่มีผู้คนอยู่ในอาคารเป็นจำนวนมาก

ในการหน่วงเวลาของขั้นตอนแรกสามารถแบ่งการหน่วงเวลาได้เป็น 2 แบบ ดังนี้

(1) แบบให้สัญญาณเบื้องต้น (pre-signal) สามารถกำหนดการหน่วงเวลาได้นานกว่า 1 นาที

(2) แบบให้สัญญาณก้าวหน้าเป็นลำดับขั้น (positive alarm sequence) เจ้าหน้าที่ต้องเข้ารับทราบเหตุ (acknowledge) ที่แผงควบคุมระบบภายในเวลาไม่เกิน 15 วินาทีจากนั้นระบบจะหน่วงเวลาให้เข้าตรวจสอบและต้องปรับปกติ(reset) ระบบให้ได้ภายในเวลาไม่เกิน 180 วินาที ระบบจะทำให้เกิดการแจ้งสัญญาณในขั้นตอนหลังหากไม่เข้ารับทราบเหตุ หรือไม่ปรับปกติระบบได้ในเวลาที่กำหนด หรือมีอุปกรณ์เริ่มสัญญาณอื่นในระบบทำงานขึ้นในขณะหน่วงเวลา

2. ภาคที่ 2 ข้อ 2.2.5 (2) ข.  – เพื่อให้มีข้อความสอดคลองกับข้อ(1)

ข้อความเดิม   ข. แบบแจ้งสัญญาณให้ทราบเฉพาะเจ้าหน้าที่ และพื้นที่เกิดเหตุและพื้นที่ข้างเคียงในขั้นตอนแรก (initial alarm stage) ทันทีที่มีการตรวจพบอัคคีภัย เช่นกรณีอาคารสูงจะแจ้งสัญญาณในชั้นที่เกิดเหตุ ชั้นเหนือชั้นเกิดเหตุ 2 ชั้นและชั้นใต้ชั้นเกิดเหตุ 1 ชั้นเป็นต้น เพื่อการอพยพผู้คนในชั้นดังกล่าวออกจากอาคารไปก่อน ขณะเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบและระงับเหตุ โดยระบบจะหน่วงเวลา (time delay) เพื่อชะลอการแจ้งสัญญาณในขั้นตอนหลังไว้ภายในช่วงเวลาที่กำหนด หลังจากนั้นจึงแจ้งสัญญาณในทุกพื้นที่ป้องกัน (evacuation alarm stage) เพื่อการอพยพผู้อยู่ส่วนอื่นออกจากอาคารทั้งหมด

อย่างไรก็ตามผู้ควบคุมระบบฯสามารถตัดสินใจทำการแจ้งสัญญาณในขั้นตอนหลังในบางพื้นที่ หรือทุกพื้นที่ก่อนครบเวลาที่กำหนดหากไม่สามารถระงับเหตุอัคคีภัยในขั้นตอนแรกนั้นได้หรือยกเลิกการแจ้งสัญญาณทั้งหมดหากระงับเหตุได้เหมาะสำหรับอาคารสูง อาคารที่มีพื้นที่ซับซ้อน และอาคารที่มีผู้คนอยู่ในอาคารเป็นจำนวนมาก

ข้อความใหม่  ข. แบบแจ้งสัญญาณให้ทราบเฉพาะเจ้าหน้าที่ และพื้นที่เกิดเหตุและพื้นที่ข้างเคียงในขั้นตอนแรก (initial alarm stage) ทันทีที่มีการเริ่มสัญญาณเมื่อตรวจพบเหตุเพลิงไหม้ เช่นกรณีอาคารสูงจะแจ้งสัญญาณในชั้นที่เกิดเหตุ ชั้นเหนือชั้นเกิดเหตุ 2 ชั้นและชั้นใต้ชั้นเกิดเหตุ 1 ชั้นเป็นต้น เพื่อการอพยพผู้คนในชั้นดังกล่าวออกจากอาคารไปก่อน ขณะเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบและระงับเหตุ โดยระบบจะหน่วงเวลา (time delay) เพื่อชะลอการแจ้งสัญญาณในขั้นตอนหลังไว้ภายในช่วงเวลาที่กำหนด หลังจากนั้นจึงแจ้งสัญญาณในทุกพื้นที่ป้องกัน (evacuation alarm stage) เพื่อการอพยพผู้อยู่ส่วนอื่นออกจากอาคารทั้งหมด

อย่างไรก็ตามผู้ควบคุมระบบฯสามารถตัดสินใจทำการแจ้งสัญญาณในขั้นตอนหลังในบางพื้นที่ หรือทุกพื้นที่ก่อนครบเวลาที่กำหนดหากไม่สามารถระงับเหตุอัคคีภัยในขั้นตอนแรกนั้นได้หรือยกเลิกการแจ้งสัญญาณทั้งหมดหากระงับเหตุได้เหมาะสำหรับอาคารสูง อาคารที่มีพื้นที่ซับซ้อน และอาคารที่มีผู้คนอยู่ในอาคารเป็นจำนวนมาก

3. ภาคที่ 2 ข้อ 2.3.5.2 (1) ระบบโทรศัพท์ฉุกเฉิน – เพิ่มพื้นที่ป้องกัน ในข้อ ง.

ข้อความเดิม  “ไม่มี (มีเฉพาะข้อ ค.)”

ข้อความใหม่   ง. ต้องติดตั้งภายในพื้นที่ดังต่อไปนี้  พื้นที่ป้องกัน ห้องปลอดควันหน้าลิฟต์ ห้องเครื่องลิฟต์ ห้องเครื่องสูบน้ำดับเพลิง ห้องเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ทางออกในห้องบันไดหนีไฟแบบปิดล้อมทุกชั้น และพื้นที่หลบอัคคีภัยชั่วคราว

4. ภาคที่ 2 รูปที่ 2.5  เปลี่ยนรูปเพราะมาตรฐาน NFPA ใหม่ล่าสุด ไม่อนุญาติให้หนีไฟผ่านทางเข้าลิฟท์

5. ภาคที่ 4 ข้อ 4.2.10 – ตัดคำว่าหลักออก เพราะสามารถติดตั้งได้ทุกบันไดหนีไฟ

ข้อความเดิม   ช่องบันไดที่ปิดล้อมทนไฟ ต้องติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับควันภายในช่องบันไดที่เพดานของ ชั้นบนสุดของช่องบันได และติดที่เพดานของชานพักบันไดหลักที่ต่อเนื่องกับพื้นที่ป้องกันแต่ละชั้นของอาคาร แต่ไม่ต้องติดที่เพดานของพักบันไดที่อยู่ระหว่างชั้น

ข้อความใหม่    ช่องบันไดที่ปิดล้อมทนไฟ ต้องติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับควันภายในช่องบันไดที่เพดานของ ชั้นบนสุดของช่องบันได และติดที่เพดานของชานพักบันไดที่ต่อเนื่องกับพื้นที่ป้องกันแต่ละชั้นของอาคาร แต่ไม่ต้องติดที่เพดานของพักบันไดที่อยู่ระหว่างชั้น

6. ภาคที่ 5 ข้อที่ 5.2.1 (3) – ใช้ระยะ 9.10 ที่ความสูงเพดานไม่เกิน3 เมตรเพื่อให้สอดคล้องกับภาคที่6 และแก้ไขรูปที่ 5.2 ให้สอดคล้องกัน

ข้อความเดิม  การติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับที่เพดานระดับราบ ที่สูงจากพื้นมากกว่า 3.00 เมตร แต่ไม่เกิน 3.70 เมตร จะมีระยะห่างระหว่างอุปกรณ์ตรวจจับไม่เกิน 8.28 เมตร (ดูตารางที่ 5.1 ที่ความสูงไม่เกิน 3.00 เมตร กำหนดให้มีระยะห่างที่แสดงไว้ (listed spacing) 9.10 เมตร) มีรัศมีการตรวจจับ 5.80 เมตร พื้นที่ตรวจจับอย่างต่อเนื่อง 68.56 ตารางเมตร โดยต้องติดห่างจากผนังกั้น หรือชั้นวางของไม่เกิน 4.14 เมตร (ดูรูปที่ 5.2)

ข้อความใหม่  การติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับที่เพดานระดับราบ ที่สูงจากพื้นไม่เกิน 3.0 เมตร จะมีระยะห่างระหว่างอุปกรณ์ตรวจจับไม่เกิน 9.1  เมตร มีรัศมีการตรวจจับ 6.3เมตร พื้นที่ตรวจจับอย่างต่อเนื่อง 82.8 ตารางเมตร โดยต้องติดห่างจากผนังกั้น หรือชั้นวางของไม่เกิน 4.5เมตร (ดูรูปที่ 5.2)

7. ภาคที่ 5 ข้อที่ 5.2.3- ตัดข้อความให้ดูรูป (ดูรูปที่ 5.4 และ 5.5 จากข้อ 5.2.3 (2) ขึ้นมาใส่ในหัวข้อ 5.2.3 แทน

ข้อความเดิม  5.2.3 ระยะห่างระหว่างอุปกรณ์ตรวจจับที่เพดานทรงจั่ว หรือเพิงลาดเอียง

ข้อความใหม่  5.2.3 ระยะห่างระหว่างอุปกรณ์ตรวจจับที่เพดานทรงจั่ว หรือเพิงลาดเอียง (ดูรูปที่ 5.4 และ 5.5)

8. ภาคที่5 ข้อที่5.2.3 (4) – แก้ไขข้อความให้สอดคล้องกับรูปที่อ้างอิง

ข้อความเดิม   (4) เพดานที่มีมุมลาดเอียงน้อยกว่า 30 องศา ต้องมีระยะห่างระหว่างอุปกรณ์ตรวจจับไม่เกินระยะห่าง (s) ที่กำหนด วัดจากแนวดิ่งของจั่วเพดาน คำนวณที่ 30 องศา จะต้องใช้ระยะห่าง 9.56 เมตร วัดตามแนวลาดอ้างอิงการคำนวณระยะจากความสูงติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับตัวบนสุดเท่ากับ 3.7 เมตร

ข้อความใหม่   (4) เพดานที่มีมุมลาดเอียงน้อยกว่า 30 องศา และมีระยะห่างระหว่างอุปกรณ์ตรวจจับไม่เกินระยะห่างที่กำหนด (S) 8.28 เมตรวัดในแนวระดับที่ความสูงเพดานไม่เกิน 3.7 เมตร (ตามตารางที่5.1) คำนวณที่ 30 องศา จะต้องได้ระยะห่างระหว่างอุปกรณ์ตรวจจับเท่ากับ 9.56 เมตร วัดตามแนวลาดเอียงเพดานเทียบจากแนวระดับ”

9. ภาคที่ 5 ข้อที่ 5.2.3 (5) – แก้ไขข้อความให้สอดคล้องกับรูปที่อ้างอิง

ข้อความเดิม   (5) เพดานที่มีมุมลาดเอียงตั้งแต่ 30 องศาขึ้นไป  ระยะห่างระหว่างอุปกรณ์ตรวจจับตามลาดเพดาน โดยวัดจากแนวดิ่งของจั่วเพดาน ให้ใช้มุมลาดเอียงคำนวณหาค่าระยะห่างตามองศาที่ติดตั้งจริง เช่น เพดานลาดเอียง 37 องศา อุปกรณ์ตัวบนสุดเท่ากับ 3.7 เมตร ระยะห่างระหว่างอุปกรณ์ฯ เท่ากับ

8.28 (เมตร) / cos (37) หรือ

= 8.28 / 0.7986

= 10.37 เมตร

ข้อความใหม่   (5) เพดานที่มีมุมลาดเอียงตั้งแต่ 30 องศาขึ้นไป  และมีระยะห่างระหว่างอุปกรณ์ตรวจจับไม่เกินระยะห่างที่กำหนด (S) 8.28 เมตรวัดในแนวระดับที่ความสูงเพดานไม่เกิน 3.7 เมตร (ตามตารางที่5.1) ให้ใช้มุมลาดเอียงคำนวณหาค่าระยะห่างตามองศาที่ติดตั้งจริง เช่น เพดานลาดเอียง 37 องศา ระยะห่างระหว่างอุปกรณ์ฯ เท่ากับ

8.28 (เมตร) / cos (37) หรือ

= 8.28 / 0.7986

= 10.37 เมตร

10. ภาคที่ 5 รูปที่ 5.5 – เพิ่มข้อความให้สอดคล้องกับรูปที่อ้างอิง

ข้อความเดิม   รูปที่ 5.5 ตัวอย่างการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับความร้อน สำหรับเพดานลาดเอียงน้อยกว่า 30 องศา

ข้อความใหม่   รูปที่ 5.5 ตัวอย่างการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับความร้อน สำหรับเพดานลาดเอียงเท่ากับ 37องศาโดยยอดจั่วสูง 3 เมตร แต่ไม่เกิน 3.7 เมตร

11. ภาคที่ 6 ข้อที่ 6.2.3 – ตัดข้อความให้ดูรูป (ดูรูปที่ 6.4 และ 6.5 จากข้อ 6.2.3 (2) ขึ้นมาใส่ในหัวข้อ 6.2.3 แทน

ข้อความเดิม   6.2.3 ระยะห่างระหว่างอุปกรณ์ตรวจจับที่เพดานทรงจั่ว หรือเพิงลาดเอียง

ข้อความใหม่   6.2.3 ระยะห่างระหว่างอุปกรณ์ตรวจจับที่เพดานทรงจั่ว หรือเพิงลาดเอียง (ดูรูปที่ 6.4 และ 6.5)

12. ภาคที่ 6 ข้อที่ 6.2.3 (4) – แก้ไขข้อความใหม่ให้สอดคล้องเนื้อหา

ข้อความเดิม   (4) เพดานที่มีมุมลาดเอียงน้อยกว่า 30 องศา ต้องมีระยะห่างระหว่างอุปกรณ์ตรวจจับไม่เกิน 9.10 เมตร วัดจากแนวดิ่งของจั่วเพดาน

ข้อความใหม่   (4) เพดานที่มีมุมลาดเอียงน้อยกว่า 30 องศา ต้องมีระยะห่างระหว่างอุปกรณ์ตรวจจับไม่เกินระยะห่างที่กำหนด (S) 9.10 เมตร โดยวัดในแนวระดับ

13. ภาคที่ 6 ข้อที่ 6.2.3 (5) – แก้ไขข้อความใหม่ให้สอดคล้องเนื้อหา

ข้อความเดิม    (5) เพดานที่มีมุมลาดเอียงตั้งแต่ 30 องศาขึ้นไป  ระยะห่างระหว่างอุปกรณ์ตรวจจับตามลาดเพดาน โดยวัดจากแนวดิ่งของจั่วเพดาน ให้ใช้มุมลาดเอียงคำนวณหาค่าระยะห่างได้เช่น เพดานลาดเอียง 30 องศา จะมีระยะห่างระหว่างอุปกรณ์ฯ เท่ากับ

9.10 (เมตร) / cos (30) หรือ

= 9.10 / 0.866

= 10.50 เมตร

ข้อความใหม่    (5) เพดานที่มีมุมลาดเอียงตั้งแต่ 30 องศาขึ้นไป  มีระยะห่างระหว่างอุปกรณ์ตรวจจับไม่เกินระยะห่างที่กำหนด (S) 9.10 เมตร โดยวัดในแนวระดับ ดังนั้นระยะห่างระหว่างอุปกรณ์ตรวจจับตามความลาดเอียงเพดาน โดยวัดเทียบจากแนวระดับ ให้ใช้มุมลาดเอียงคำนวณหาค่าระยะห่างได้ เช่น เพดานลาดเอียง 30 องศา จะมีระยะห่างระหว่างอุปกรณ์ฯ เท่ากับ

9.10 (เมตร) / cos (30) หรือ

= 9.10 / 0.866

= 10.50 เมตร

 

14. ภาคที่ 9 ข้อที่ 9.1 (1) (2) และ(3) – เพิ่มเติมเพราะตกหล่นข้อความระดับความสูงในการอ้างอางอิงการวัด

ข้อความเดิม

(1)  อุ ปกรณ์ แจ้ งสั ญญาณด้วยเสียง และ หรือด้วยแสงต้องเป็นชนิ ดที่ทางานโดยการ สั่งงานจากระบบแจ้งเหตุ เพลิงไหม้  และต้องทางานแจ้งสัญญาณได้ต่อเนื่องนานไม่น้อยกว่า 60 วินาที

(2) ในพื้นที่สาธารณะ (public area) หรือพื้นที่ส่วนกลางในอาคาร ระดับความดังของเสียงสัญญาณที่จุดใด ๆ ต้องมากกว่าความดังของเสียงแวดล้อมเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 15 dB(A) หรือต้องมากกว่าความดังเสียงแวดล้อมสูงสุดไม่น้อยกว่า 5dB(A) เป็นระยะเวลาไม่น้อยว่า 60 วินาที ทั้งนี้ ต้องดังไม่น้อยกว่า 65 dB(A) แต่ไม่ดังเกินกว่า 110 dB(A)

(3) ในพื้นที่สวนบุคคล (private area) ระดับความดังของเสียงสัญญาณที่จุดใด ๆ ต้องมากกว่าความดังของเสียงแวดล้อมเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 10 dB(A)หรือต้องมากกว่าความดังเสียงแวดล้อมสูงสุดไม่น้อยกว่า 5dB(A) เป็นระยะเวลาไม่น้อยว่า 60วินาที ต้องดังไม่น้อยกว่า 65 dB(A) แต่ไม่ดังเกินกว่า 110 dB(A)

ข้อความใหม่

(1)  อุปกรณ์แจ้งสัญญาณด้วยเสียง และหรือด้วยแสงต้องเป็นชนิดที่ทางานโดยการ สั่งงานจากระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้  และต้องทางานแจ้งสัญญาณได้ ต่อเนื่องนานไม่น้อยกว่า 60 วินาที   วัดที่ระดับความสูงจากพื้น 1.5 เมตร

(2) ในพื้นที่สาธารณะ (public area) หรือพื้นที่ส่วนกลางในอาคาร ระดับความดังของเสียงสัญญาณที่จุดใด ๆ ต้องมากกว่าความดังของเสียงแวดล้อมเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 15 dB(A) หรือต้องมากกว่าความดังเสียงแวดล้อมสูงสุดไม่น้อยกว่า 5dB(A) เป็นระยะเวลาไม่น้อยว่า 60 วินาที ที่ระดับการวัดสูงจากพื้น 1.5 เมตร ทั้งนี้ ต้องดังไม่น้อยกว่า 65 dB(A) แต่ไม่ดังเกินกว่า 110 dB(A)

(3) ในพื้นที่สวนบุคคล (private area) ระดับความดังของเสียงสัญญาณที่จุดใด ๆ ต้องมากกว่าความดังของเสียงแวดล้อมเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 10 dB(A) หรือต้องมากกว่าความดังเสียงแวดล้อมสูงสุดไม่น้อยกว่า 5dB(A) เป็นระยะเวลาไม่น้อยว่า 60 วินาที ที่ระดับการวัดสูงจากพื้น 1.5 เมตร ทั้งนี้ต้องดังไม่น้อยกว่า 65 dB(A) แต่ไม่ดังเกินกว่า 110 dB(A)

15. ภาคที่ 9 ข้อที่ 9.1 (4) – เรียบเรียงข้อความใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับข้ออื่น ๆ

ข้อความเดิม   (4) ในพื้นที่ห้องนอน ระดับความดังของเสียงสัญญาณวัดที่หมอนต้องดังไม่น้อยกว่า 75 dB(A) และต้องดังมากกว่าความดังของเสียงแวดล้อมเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 15dB(A) หรือมากกว่าความดังของเสียงแวดล้อมสูงสุดไม่น้อยกว่า 5 dB(A)

ข้อความใหม่   (4) ในพื้นที่ห้องนอน ระดับความดังของเสียงสัญญาณที่จุดใด ๆต้องมากกว่าความดังของเสียงแวดล้อมเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 15 dB(A) หรือต้องมากกว่าความดังเสียงแวดล้อมสูงสุดไม่น้อยกว่า 5dB(A) เป็นระยะเวลาไม่น้อยว่า 60วินาที ทั้งนี้ระดับความดังของเสียงสัญญาณวัดที่หมอนต้องดังไม่น้อยกว่า 75 dB(A)

16. ภาคที่ 9 ข้อที่ 9.1 (6) – เพิ่มเติมข้อข้อความ

ข้อความเดิม    (6) อุปกรณ์แจ้งสัญญาณทุกชุดในวงจรโซนเดียวกัน ต้องทำงานพร้อมกันในจังหวะและความถี่เดียวกัน (synchronized)

ข้อความใหม่   อ(6) อุปกรณ์แจ้งสัญญาณทุกชุดในวงจรโซนเดียวกัน ต้องทำงานพร้อมกันในจังหวะและความถี่เดียวกัน (synchronized)และให้มีสัญญาณจากระบบอื่น(ถ้ามี)แตกต่างจากสัญญาณในระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้

17. ภาคที่ 9 ข้อที่ 9.1 ตารางที่ 9.1 และ9.2 – เพิ่มเติมข้อข้อความในชื่อหัวข้อตารางที่9.1และ9.2เพื่อให้สอดคล้องกับชนิดอุกรณ์ในตาราง

ข้อความเดิม    ตารางที่ 9.1 ค่าความเข้มแสงของอุปกรณ์แจ้งเหตุชนิดติดผนัง ที่ระดับความสูงไม่เกิน 2.40 เมตรข้อความในตารางที่ 9.2 ค่าความเข้มแสงต่ำสุดของอุปกรณ์แจ้งเหตุแต่ละชุด หน่วยแคนเดลา (cd)

ข้อความใหม่    ตารางที่ 9.1 ค่าความเข้มแสงของอุปกรณ์แจ้งสัญญาณด้วยแสงชนิดติดผนัง ที่ระดับความสูงไม่เกิน 2.40 เมตรข้อความในตารางที่ 9.2 ค่าความเข้มแสงต่ำสุดของอุปกรณ์แจ้งสัญญาณฯแต่ละชุด หน่วยแคนเดลา (cd)

มาตรฐานฉบับต่อไปมีกำหนดปรับปรุงในปี พ.ศ. 2567

คณะผู้จัดทำ

ปรับปรุงมาตรฐานระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้

พ.ศ. 2560

ที่ปรึกษา

  1. พ.ต.อ.โชคชัย    ยิ้มพงษ์
  2. ผศ.ดร.อุทัย      ไชยวงค์วิลาน
  3. นายดิลก           เลิศเกรียงไกรยิ่ง
  4. นางจันทร์เพ็ญ    ประสูติชัย
  5. นายธนวัฒน์       ตันปิชาติ
  6. นายรณันท์        ชูธรรมสถิต
  7. นายลือชัย         ทองนิล
  8. นายวีรพล         ตันปิชาติ
  9. นายวีระพันธ์      พันธุมคุปต์
  10. นายสมเจตน์      สุดประเสริฐ

คณะอนุกรรมการ

  1. นายมงคล         วิสุทธิใจ              ประธาน
  2. นายสุวิทย์         ศรีสุข                 รองประธาน
  3. รศ.ถาวร           อมตกิตติ์             อนุกรรมการ
  4. นายขวัญชัย       กุลสันติธำรง         อนุกรรมการ
  5. นายณัฐกานต์     เฟื่องขจร             อนุกรรมการ
  6. นายธนิศ           เผื่อนสา              อนุกรรมการ
  7. นายเมธี            อนิวรรตน์            อนุกรรมการ
  8. นายสมชาติ        จิตใหญ่              อนุกรรมการ
  9. นายสุวัฒน์         บุญศักดิ์สกุล        อนุกรรมการและเลขานุการ

มาตรฐานระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ พ.ศ. 2562
ฉบับแก้ไขปรับปรุงครั้งที่ 2 มกราคม 2562


ได้รับการรับรองจากสภาวิศวกร เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2564

โดยมีวงรอบการรับรองมาตรฐานปฏิบัติวิชาชีพที่ปรับปรุง ตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2564 – 12 กันยายน พ.ศ. 2569
“Recognized by Council of Engineers from year AD 2021 to year AD 2026”

 ขอบเขตงาน ครอบคลุม
– มาตรฐานนี้จัดทำขึ้นมาเพื่อเป็นข้อกำหนดสำหรับการออกแบบ การติดตั้ง การปฏิบัติ การตรวจสอบ การทดสอบ

  และการบำรุงรักษา สำหรับระบบตรวจจับและแจ้งเหตุเพลิงไหม้อัตโนมัติ ระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้สำหรับใช้เตือนอัคคีภัย
  กับอาคารทั่วไปเพื่อความปลอดภัยต่อชีวิต และลดความสูญเสียต่อทรัพย์สิน
– ทั้งนี้ไม่รวมส่วนของอาคารที่ใช้เพื่อการผลิต การใช้ การเก็บสาร หรือวัสดุอันตราย เช่น วัตถุระเบิด สารไวไฟ สารเคมี
  และสารกัมมันตรังสี เป็นต้น  ซึ่งต้องใช้มาตรฐานที่เกี่ยวข้อง  และคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางประกอบการออกแบบ

ประเภทงานที่สามารถนำมาตรฐานนี้ไปใช้
– วิศวกร ผู้ออกแบบ ผู้ติดตั้ง ผู้รับเหมา ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ตลอดจนผู้ตรวจสอบอาคาร เจ้าของอาคาร

  และผู้อยู่ในอาคารได้นำไปใช้อ้างอิงสำหรับการติดตั้งระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ในอาคาร เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อชีวิต
  และลดการสูญเสียทรัพย์สินจากอัคคีภัยในอาคาร
-ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับงานรักษาความปลอดภัยในอาคารและส่วนที่ควบคุม กำกับ และดูแลความปลอดภัยอาคาร รวมถึงหน่วยงานผู้กำหนดมาตรฐานด้านความปลอดภัยสำหรับงานระบบอาคาร
-นักวิชาการ นักศึกษาในคณะวิศวกรรมศาสตร์-สาขาไฟฟ้า เครื่องกล  อัคคีภัย และความปลอดภัย สถาบันอุดมศึกษา และสถาบันอื่นๆ ที่เปิดสอนด้านวิศวกรรมไฟฟ้า ความปลอดภัย และการป้องกันอัคคีภัยของอาคาร
-สมาคมวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ การปฏิบัติงานต้องสอดคล้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง

บทความก่อนหน้านี้มาตรฐานสำหรับอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก โดยวิธีหน่วยแรงใช้งาน แก้ไขปรับปรุงครั้งที่ 2
บทความถัดไปเสวนา “มาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าสำหรับประเทศไทย : ระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา”