มาตรฐานตู้รถไฟ/ตู้รถไฟฟ้าสำหรับประเทศไทย ส่วนที่ 1 : ตู้รถโดยสาร

7267

รหัสมาตรฐาน CE 012036-20

สืบเนื่องจากปัจจุบันรัฐบาลไทยมีนโยบายส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมระบบรางภายในประเทศ ตั้งแต่โครงการพื้นฐาน การผลิตรถไฟทั้งขบวน รวมถึงวัสดุและชิ้นส่วนต่างๆ ของรถไฟและรถไฟฟ้า ดังจะเห็นได้จากความร่วมมือในหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา เพื่อยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์ระบบรางให้เป็นไปตามมาตรฐานระบบรางของประเทศและมาตรฐานสากล ให้สามารถแข่งขันขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างมั่นคง  ซึ่งการนำเทคโนโลยีจากผู้ผลิตที่แตกต่างกันมาใช้บนโครงข่ายร่วมกัน จำเป็นต้องมีมาตรฐาน กฎระเบียบ และข้อตกลงร่วมกัน เพื่อให้การดำเนินงานระบบการขนส่งทางรางเกิดความปลอดภัย มีประสิทธิภาพและสามารถเข้ากันได้ตลอดโคร่งข่ายภายในประเทศและประเทศเพื่อนบ้านในอนาคต โครงการรถไฟฟ้ามีผู้ได้รับสัมปทานหลากหลายราย และมีการใช้รถไฟฟ้าจากหลายค่าย หากไทยไม่มีมาตรฐานกลางของประเทศจะผลิตชิ้นส่วนป้อนบริษัทเหล่านี้ได้ยาก วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ในฐานะสมาคมวิชาชีพด้านวิศวกรรมซึ่งมีสาขาวิศวกรรมหลากหลาย สาขาระบบขนส่งและโลจิสติกส์ก็เป็นอีกสาขาหนึ่งที่มีความเกี่ยวข้องในเรื่องของระบบขนส่งทางราง วสท.เห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศในการกำหนดมาตรฐานตู้รถไฟ/ตู้รถไฟฟ้าสำหรับประเทศไทยขึ้น โดยอิงมาตรฐานสากล และความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องช่วยกำหนดมาตรฐาน

มาตรฐานสำหรับตู้รถไฟ/ตู้รถไฟฟ้าสำหรับประเทศไทยฉบับนี้ กำหนดเนื้อหาโดยระบุความต้องการขั้นต่ำสำหรับตัวถังตู้รถไฟและตู้รถไฟฟ้าที่จะผลิตขึ้นมาใช้ในประเทศ โดยกำหนดความสามารถในการรับน้ำหนักของตัวถัง ยานพาหนะที่บรรทุก ข้อมูลของวัสดุที่ควรนำมาใช้ และหลักการที่ใช้สำหรับการตรวจสอบการออกแบบโดยการวิเคราะห์และการทดสอบ มาตรฐานนี้เป็นมาตรฐานสำหรับตู้รถไฟและตู้รถไฟฟ้า (ที่ใช้สำหรับผู้โดยสาร)

ยานพาหนะรถไฟ/รถไฟฟ้าแบ่งออกเป็นหมวดหมู่ซึ่งกำหนดไว้เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับโครงสร้าง ข้อกำหนดของยานพาหนะรถไฟ รถบางประเภทอาจไม่เข้ากับหมวดหมู่ที่กำหนดไว้  โครงสร้างและข้อกำหนดสำหรับยานพาหนะรถไฟ/รถไฟฟ้าดังกล่าว นับเป็นส่วนหนึ่งของข้อกำหนดและเป็นไปตามหลักการที่นำเสนอในมาตรฐานฉบับนี้ ทั้งนี้เนื้อหามาตรฐานไม่ครอบคลุมโครงสร้างที่เกี่ยวข้องกับความสะดวกสบายของผู้โดยสาร ซึ่งผู้อ่านต้องศึกษาจากมาตรฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง

มาตรฐานนี้ใช้กับยานพาหนะทางรถไฟทั้งหมดของประเทศไทยตามข้อกำหนดที่ระบุถึง เงื่อนไขการใช้งานและสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ปรากฏโดยทั่วไปของประเทศ

     ฉบับนี้เป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2563

รายนามคณะกรรมการจัดทำมาตรฐาน
ตู้รถไฟ/ตู้รถไฟฟ้าสำหรับประเทศไทย
พ.ศ. 2562-2563
1. รศ.ดร.พิชัย ปมาณิกบุตร ประธานกรรมการ
2. รศ.ดร.ประจวบ กล่อมจิตร กรรมการ
3. ผศ.ดร.สิทธา เจนศิริศักดิ์ กรรมการ
4. นายกำพล   บุญชม กรรมการ
 5. ดร.อรรถพล   เก่าประเสริฐ กรรมการ
6. นางสาวพรปวีณ์  ศิริรังสี กรรมการ
7. นายบุญรักษ์ กุณาศล กรรมการ
8. นายจักรกฤษณ์ คล้ายปักษี กรรมการ
9. นายกิจติศักดิ์ รำไพรุจิพงศ์ กรรมการ
10. นายศุภฤกษ์ สุดยอดประเสริฐ กรรมการ

แผนการปรับปรุงมาตรฐาน

อย่างน้อย 5 ปี หลังการจัดพิมพ์มาตรฐานจึงจะมีการปรับปรุง

บทความก่อนหน้านี้มาตรฐานรหัสต้นทุนก่อสร้างงานถนน สะพาน และท่อเหลี่ยม
บทความถัดไปมาตรฐานความปลอดภัยในการปฏิบัติวิชาชีพวิศวกรรมเหมืองแร่ งานขุด ตัก ขนด้วยเครื่องจักรกลหนักในพื้นที่หน้าเหมืองผิวดิน