มาตรฐานระบบไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉินและโคมไฟฟ้าป้ายทางออกฉุกเฉิน แก้ไขปรับปรุงครั้งที่ 4

12857

รหัสมาตรฐาน EE 021004-18 มาตรฐานระบบไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉินและป้ายทางออกฉุกเฉิน แก้ไขปรับปรุงครั้งที่ 4

วสท. มีเป้าหมายจัดทำมาตรฐานระบบไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉินและโคมไฟฟ้าป้ายทางออกฉุกเฉิน เพื่อเป็นมาตรฐานที่ครอบคลุมเนื้อหาสาระทางด้านการออกแบบ การติดตั้ง การตรวจสอบ และการใช้ระบบไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉินและโคมไฟฟ้าป้ายทางออกฉุกเฉิน ที่สร้างความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน อีกทั้งถูกต้องตามหลักวิชาการและเป็นมาตรฐานระดับประเทศ

มาตรฐานฉบับนี้เป็นมาตรฐานที่ได้ปรับปรุงจากฉบับเดิมเป็นครั้งที่ 4 โดยได้ปรับปรุงเนื้อหาให้ทันสมัยสอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) รวมทั้งมาตรฐานอื่นที่เกี่ยวข้องและเหมาะกับสภาพแวดล้อมในประเทศไทยเหมาะสม ซึ่งมาตรฐานนี้เป็นหนึ่งในมาตรฐานที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณปรับปรุงประจำปี 2558 จากสภาวิศวกร ซึ่งมีนโยบายส่งเสริมให้สมาคมวิชาชีพจัดทำมาตรฐานการประกอบวิชาชีพทั้งการร่างขึ้นใหม่หรือปรับปรุงมาตรฐานให้มีความทันสมัยขึ้น

วสท. ขอขอบพระคุณคณะอนุกรรมการมาตรฐานระบบไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉินและโคมไฟฟ้าป้ายทางออกฉุกเฉินทุกท่านไว้ ณ ที่นี้ ที่ได้ใช้ความวิริยะ อุตสาหะ จนสามารถปรับปรุงมาตรฐานแล้วเสร็จ หากผู้ใช้มาตรฐานนี้มีข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะประการใด โปรดแจ้งให้วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ทราบเพื่อจะได้จัดทำมาตรฐานให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

ฉบับก่อนหน้า ปรับปรุงและตีพิมพ์กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ฉบับปัจจุบัน   เป็นฉบับที่ปรับปรุงครั้งที่ 4 และพิมพ์เมื่อปี 2561 โดยมีการแก้ไขหลักๆ หลายจุด ดังนี้

แนวทางการปรับปรุง

  1. พิจารณาเนื้อหาเดิมว่ามีส่วนใดมากไปหรือไม่ เพื่อให้เป็นมาตรฐานมากกว่าคู่มือ
  2. พิจารณาเนื้อหาเดิมว่ามีส่วนใดน้อยเกินไป เพื่อเพิ่มเติมหรือขยายความให้ชัดเจนมากขึ้น
  3. พิจารณาว่ามีเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ควรนำมาประยุกต์ใช้หรือไม่ เช่น LED, Photoluminescent

มาตรฐานมีเนื้อหาแยกเป็น

–  ภาคที่ 1  :  นิยาม
–  ภาคที่ 2  :  ระบบไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉิน
–  ภาคที่ 3  :  โคมไฟฟ้าป้ายทางออกฉุกเฉิน
–  ภาคผนวก  :  ตัวอย่างใบรับรองการตรวจสอบและทดสอบ, ตัวอย่างการออกแบบและติดตั้ง, ระบบนำทางติดตั้งต่ำแบบไม่ใช้ไฟฟ้า

สรุปการปรับปรุงได้ดังนี้

–  ปรับปรุงเนื้อหาให้ทันสมัย
–  สอดคล้องกับกฎหมาย, มาตรฐานสากล, สภาพแวดล้อมในประเทศไทย
–  เป็นหนึ่งในโครงการที่ขอรับการสนับสนุนและรับรองจากสภาวิศวกร

 ภาคที่ 1 นิยาม

  • เรียงลำดับข้อใหม่ตามอักษรไทย
  • เพิ่มข้อ 1.23 ระบบนำทางติดตั้งต่ำใช้ไฟฟ้า (electrical low mounted way guidance system) ติดตั้งสูงจากพื้นไม่เกิน 1.8 เมตรในทางหนีภัย
  • เพิ่มข้อ 24 ระบบนำทางติดตั้งต่ำไม่ใช้ไฟฟ้า) (non-electrical low mounted way guidance system) ติดตั้งสูงจากพื้นไม่เกิน 1.8 เมตรในทางหนีภัย
  • เพิ่มข้อ 25 ระบบเปล่งแสง (photoluminescent system) ที่กระตุ้นด้วยอัลตราไวโอเลตหรือรังสีที่มองเห็นได้ ซึ่งพลังงานจะปล่อยออกมาเป็นแสง
  • เพิ่มนิยามเกี่ยวกับระบบนำทางติดตั้งต่ำ :
    – ข้อ 1.1 การกระตุ้น
    – ข้อ 1.6 เครื่องหมายทางหนีภัยแบบเปล่งแสง
    – ข้อ 1.31 ช่วงเวลาที่สิ้นสุดการเปล่งแสง
  • เปลี่ยนข้อ 1.22 พื้นที่งานอันตราย เป็น พื้นที่งานความเสี่ยงสูง

ภาคที่ 2 ระบบไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉิน

  • ข้อ 2 การเตรียมการและการจดบันทึก :
    – เพิ่มอุปกรณ์ปฐมพยาบาล
  • ข้อ 3 การให้แสงสว่างฉุกเฉิน
    – เพิ่มการให้แสงสว่างอุปกรณ์ปฐมพยาบาล
    – แก้รูปให้มีระบบนำทางติดตั้งต่ำ และพื้นที่งานความเสี่ยงสูง
  • ข้อ 4 ความส่องสว่างเพื่อการหนีภัย
    – เพิ่มรูปการส่องสว่างทางหนีภัยที่กว้างไม่เกิน 2 ม. และเกิน 2 ม.
  • ข้อ 5 การออกแบบการให้แสงสว่างฉุกเฉิน
    – ระบุความชัดเจนของแหล่งจ่ายไฟฟ้าในภาวะฉุกเฉิน คือ ต้องมาจากแบตเตอรี่……. ไม่อนุญาตให้ใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าเป็นแหล่งจ่ายไฟให้กับโคมไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉิน ทั้งนี้วงจรที่จ่ายไฟฟ้าให้แหล่งจ่ายไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉินต้องรับไฟฟ้าจากแหล่งจ่ายไฟฟ้าปกติเท่านั้น
  • ข้อ 6.1 ตำแหน่งติดตั้ง
    – เพิ่มรูปและพื้นที่ต้องการไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉิน
  • ข้อ 6.2.1 แก้ระยะห่างระหว่างโคมไฟฟ้า A – E ชนิดติดกับฝ้าเพดาน
  • ข้อ 6.2.2 เพิ่มระยะห่างระหว่างโคมไฟฟ้า F & G ชนิดติดกับฝ้าเพดาน
  • ข้อ 7.1 เพิ่มโดยระบุชนิดของแบตเตอรี่
  • ข้อ 7.2 เพิ่มโดยระบุความจุของแบตเตอรี่
  • ข้อ 8.2.3 วงจรโคมไฟฟ้าชนิดต่อพ่วงให้แรงดันตกไม่เกิน 5% (เดิม 10%)
  • ข้อ 8.2.7 แก้วงจรจากเดิมไม่เกิน 50 แอมแปร์และไม่เกิน 12 ดวงโคมต่อวงจร เป็นไม่เกิน 32 แอมแปร์ (ไม่ระบุจำนวนโคม)
  • ข้อ 10.1 ใบรับรองการทำงานแล้วเสร็จ : เพิ่มข้อความ “สำหรับอาคารที่ต้องจัดให้มีการตรวจสอบด้านวิศวกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร”
  • ข้อ 10.1-ก) การตรวจงานติดตั้งใหม่ : แก้ “ผู้ควบคุมงานทำการติดตั้งได้ตามมาตรฐาน” เป็น “ผู้ควบคุมการติดตั้งทำงานเป็นไปตามมาตรฐาน”
  • ข้อ 10.1-ข) การตรวจงานเปลี่ยนแปลง : แก้ “ผู้ควบคุมงานทำการติดตั้งได้ตามมาตรฐาน” เป็น “ผู้ควบคุมการเปลี่ยนแปลงทำงานเป็นไปตามมาตรฐาน”

ภาคที่ 3 โคมไฟฟ้าป้ายทางออกฉุกเฉินฯ

  • ข้อ 5.4.2-2) วงจรป้ายทางออกฯชนิดต่อพ่วงให้แรงดันตกไม่เกิน 5% (เดิม10%)
  • ข้อ 7.1 ใบรับรองการทำงานแล้วเสร็จ : เพิ่มข้อความ “สำหรับอาคารที่ต้องจัดให้มีการตรวจสอบด้านวิศวกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร”
  • ข้อ 7.1-ก) การตรวจงานติดตั้งใหม่ : แก้ “ผู้ควบคุมงานทำการติดตั้งได้ตามมาตรฐาน” เป็น “ผู้ควบคุมการติดตั้งทำงานเป็นไปตามมาตรฐาน”
  • ข้อ 7.1-ข) การตรวจงานเปลี่ยนแปลง : แก้ “ผู้ควบคุมงานทำการติดตั้งได้ตามมาตรฐาน” เป็น “ผู้ควบคุมการเปลี่ยนแปลงทำงานเป็นไปตามมาตรฐาน”

ภาคผนวก ข รายละเอียดและข้อแนะนำเรื่องระบบแบตเตอรี่

  • ข้อ ข.1–1) พื้นที่เก็บแบตเตอรี่ส่วนกลางทนไฟได้ไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง (เดิม 90 นาที)
  • ข้อ ข.2–1) การระบายอากาศของแบตเตอรี่ส่วนกลาง : เพิ่ม “หรือปรับอากาศให้เหมาะกับแบตเตอรี่ชนิดปิดผนึก”
  • ข้อ ข.4–1) อินเวอร์เตอร์ : เพิ่ม “ป้องกันจากช็อกไฟฟ้า (electrical shock)”

 ภาคผนวก ค ข้อแนะนำการติดตั้งโคมไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉินชุดเบ็ดเสร็จ

  • ตัด ภาคผนวก ค. เดิม : รูปแบบป้าย/สีปลอดภัย/สีประกอบคู่แล้วย้ายภาคผนวก จ เดิมมาแทนในภาคผนวกนี้ เพื่อจัดลำดับใหม่
  • ข้อ ค.1 พื้นที่โล่งในอาคารที่ไม่มีทางหนีภัยชัดเจน : แก้ระยะห่างระหว่างโคมใหม่

ภาคผนวก ง  ใบรับรอง ทำงานแล้วเสร็จ และตรวจสอบ-ทดสอบ

  • ข้อ ง.1 ใบรับรองทำงานแล้วเสร็จ-งานติดตั้งใหม่ : แก้ “วิศวกรผู้ควบคุมงานทำการติดตั้งได้ตามมาตรฐาน” เป็น “วิศวกรผู้ควบคุมการติดตั้ง”
  • ข้อ ง.2 ใบรับรองทำงานแล้วเสร็จ-งานเปลี่ยนแปลง : แก้ “วิศวกรผู้ทำการเปลี่ยนแปลงฯ” เป็น “วิศวกรผู้ควบคุมการเปลี่ยนแปลงฯ”
  • ข้อ ง.4 รายการตรวจสอบและทดสอบ-งานติดตั้งใหม่, งานเปลี่ยนแปลง และระหว่างใช้งาน : เพิ่มจาก ง.1 เดิม
    – เพิ่มช่องเลือก ไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉิน และป้ายทางออกฉุกเฉิน
    – แก้ไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉิน เป็น จ่ายไฟได้ ผ่าน/ไม่ผ่าน

ภาคผนวก จ ระยะเวลาจ่ายไฟฟ้าภาวะฉุกเฉินสำหรับไฟฟ้าแสงสว่างฯ และโคมไฟฟ้าป้ายทางออกฯ พื้นที่ต่างๆ

  • ย้ายภาคผนวก ฉ เดิมมาแทนในภาคผนวกนี้ เพื่อจัดลำดับใหม่ และแก้ไขชื่อให้สอดคล้องกับเนื้อหา

ภาคผนวก ฉ การออกแบบและติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉินและโคมไฟฟ้าป้ายทางออกฉุกเฉิน

  • จัดลำดับ&ปรับปรุงจากภาคผนวก ช, ซ, ฌ, ญ เดิม : ข้อกำหนด, การออกแบบ, การป้องกัน, การทำงาน-บำรุงรักษา, ตัวอย่างการออกแบบ, ตัวอย่างตำแหน่ง, ตัวอย่างอุปกรณ์
  • เปลี่ยนรูปตัวอย่างในการออกแบบใหม่

ภาคผนวก ช ระบบนำทางติดตั้งต่ำแบบเปล่งแสง-ภาวะฉุกเฉิน

  • เป็นภาคผนวกใหม่ ประกอบด้วย
    – ช.1 แนะนำ
    – ช.2 การวางแผนและส่วนประกอบ
    – ช.3 การออกแบบและติดตั้ง

มาตรฐานฉบับต่อไปมีกำหนดปรับปรุงในปี พ.ศ. 2566

รายชื่อคณะอนุกรรมการมาตรฐานระบบไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉิน
และโคมไฟฟ้าป้ายทางออกฉุกเฉิน ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 4
พ.ศ. 2561

ที่ปรึกษา

1. ผศ.ดร.อุทัย ไชยวงศ์วิลาน
2. นายอุทิศ จันทร์เจนจบ
3. นายลือชัย ทองนิล
4. นายพิชญะ จันทรานุวัฒน์


คณะอนุกรรมการ

1. ผศ.ถาวร อมตกิตติ์ ประธานอนุกรรมการ
2. รศ.ไชยะ แช่มช้อย รองประธานอนุกรรมการ
3. รศ.ดร.อรรถพล เง่าพิทักษ์กุล อนุกรรมการ
4. ผศ.ดร.สำเริง ฮินท่าไม้ อนุกรรมการ
5. ดร.ศรีฉัตรา ไชยวงศ์วิลาน อนุกรรมการ
6. นายเตชทัต บูรณะอัศวกุล อนุกรรมการ
7. นายธนิศ เผื่อนสา อนุกรรมการ
8. นายธีรชัย จุมพลเสถียร อนุกรรมการ
9. นายประสพ เพชรสกุลรัตน์ อนุกรรมการ
10. นายพงษ์พันธ์ ไชยะคำ อนุกรรมการ
11. นายสถาพร รุ่งรัตนาอุบล อนุกรรมการ
12. นายสุธี ปิ่นไพสิฐ อนุกรรมการ
13. นายสุวัฒน์ บุญศักดิ์สกุล อนุกรรมการ
14. นางสุวิชญาน์ เมธมโนรมย์ อนุกรรมการ
15. นายกิตติ สุขุตมตันติ อนุกรรมการและเลขานุการ
16. นางสาวณัฐรียา อุ่นรัตนะ ผู้ช่วยเลขานุการ

มาตรฐานระบบไฟฟ้าแสงสวางฉุกเฉินและโคมไฟฟ้าป้ายทางออกฉุกเฉิน
ฉบับแก้ไขปรับปรุงครั้งที่ 4 เดือนตุลาคม ปี พ.ศ.2561
ได้รับการรับรองจากสภาวิศวกร เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ.2565

โดยมีวงรอบการรับรองมาตรฐานปฏิบัติวิชาชีพ ตั้งแต่วันที่ 11 กรกฎาคม 2565 – 10 กรกฎาคม 2570
“Recognized by Council of Engineers from year AD 2022 to year AD 2027”

ขอบเขตงาน
มาตรฐานนี้มีไว้เพื่อใช้เป็นข้อกำหนดในการออกแบบ ติดตั้ง และตรวจสอบสำหรับการใช้งานระบบไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉิน มาตรฐานนี้กำหนดตามเกณฑ์อย่างต่ำของความปลอดภัย ในกรณีที่มีกฎหมายหรือข้อบังคับอื่นใดนอกเหนือจากมาตรฐานนี้ให้ทำตามกฎหมายหรือข้อบังคับอื่นที่กำหนดไว้ นอกเหนือจากนั้นให้เป็นไปตามมาตรฐานนี้
มาตรฐานระบบไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉินและไฟฟ้าป้ายทางออกฉุกเฉินนี้ได้ปรับปรุงให้ทันสมัยมากขึ้น เพื่อใช้เป็นข้อกำหนดในการออกแบบ ติดตั้ง และตรวจสอบ สำหรับอาคารพักอาศัย อาคารสำนักงาน อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่ อาคารขนาดใหญ่พิเศษ โรงแรม โรงพยาบาล สถานบริการ โรงมหรสพ และอาคารสาธารณะทั่วไป รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งของระบบป้องกันและระงับอัคคีภัยตามกฎหมายควบคุมอาคาร เพื่อให้ผู้ใช้สถานที่สามารถหนีภัยออกจากอาคารได้อย่างรวดเร็ว และปลอดภัย ในภาวะฉุกเฉิน

ประเภทงานที่สามารถนำมาตรฐานนี้ไปใช้
วิศวกร ผู้ออกแบบ ผู้รับเหมาติดตั้ง ผู้ประกอบการ ผู้ใช้งาน สถานศึกษา ตลอดจนหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการกำหนดการติดตั้งระบบไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉินและไฟฟ้าป้ายทางออกฉุกเฉิน สามารถนำไปใช้อ้างอิงในการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมาตรฐานเดียวกัน

หมายเหตุ
        เนื่องจากมาตรฐานฯ นี้พิมพ์ขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2545 มีการปรับปรุงเมื่อ พ.ศ. 2551, 2554, 2557, 2561 ปัจจุบันเป็นฉบับ พ.ศ. 2565 ซึ่งเป็นการปรับปรุงครั้งที่ 5 ในการอ้างอิง
นั้นให้ยึดถือชื่อ “มาตรฐานระบบไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉินและไฟฟ้าป้ายทางออกฉุกเฉิน”
เป็นหลักโดยให้ถือว่า พ.ศ. ที่ต่อท้ายมาตรฐานนั้นเป็นเพียงส่วนเสริมที่ใช้แสดงปีที่จัดทำเท่านั้น ซึ่งในการอ้างอิงให้ถือตามฉบับล่าสุด นอกจากจะระบุไว้เพื่อจุดประสงค์ใดจุดประสงค์หนึ่งโดยเฉพาะเท่านั้น

บทความก่อนหน้านี้มาตรฐานความปลอดภัยทางไฟฟ้าในสถานที่ทำงาน (พ.ศ. 2557)
บทความถัดไปมาตรฐานสำหรับอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก โดยวิธีหน่วยแรงใช้งาน แก้ไขปรับปรุงครั้งที่ 2